วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและบาฮามาสมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดเนื่องจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๕๙ บาฮามาสเป็นประเทศล่าสุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย (ครบ ๘ ปี ในปี ๒๕๖๗)
การเมือง
ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือในกรอบทวิภาคีหรือการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อระหว่างไทยกับบาฮามาส ขณะที่ฝ่ายบาฮามาสอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์บาฮามาสประจำประเทศไทย
เศรษฐกิจ
ในปี ๒๕๖๖ บาฮามาสเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๔ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม ๑๐๕.๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๕๑.๓๗ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปบาฮามาส จำนวน ๘.๒๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากบาฮามาส จำนวน ๙๖.๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า จำนวน ๘๘.๗๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทยไปบาฮามาส ได้แก่ (๑) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๒) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ (๓) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
สินค้านำเข้าของไทยจากบาฮามาส ได้แก่ (๑) เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ (๒) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (๓) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
ความร่วมมือทางวิชาการ
ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่บาฮามาสอย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้ทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) โดยระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๖ มีชาวบาฮามาสเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว จำนวน ๑๙ คน ในสาขาสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เนื่องจากบาฮามาสสนใจเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวจากไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานด้านการท่องเที่ยว ในหัวข้อ “Customized Tourism in Thailand: Medical & Spa Tourism and Ecotourism” ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของบาฮามาส เมื่อปี ๒๕๕๙
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)