ไทย - ซูรินาม

ไทย - ซูรินาม

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 เม.ย. 2567

| 1,540 view

ภาพรวมความสัมพันธ์

ประเทศไทยและสาธารณรัฐซูรินามมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น โดยทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ (ครบ ๓๗ ปี ในปี ๒๕๖๗) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีเขตอาณาครอบคลุมซูรินาม ขณะที่นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐซูรินามประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐซูรินามประจำสาธารณรัฐอินเดียมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

การเมือง

ประเทศไทยและสาธารณรัฐซูรินามมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงไม่มากนัก อาทิ (๑) นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภาไทยได้ไปเยือนซูรินามอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๔๘ (๒) นาย Salam Paul Somohardjo ประธานรัฐสภาซูรินามได้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๔๘ และ (๓) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับนาง Lygia Kraag-Keteldijk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูรินาม ในระหว่างการประชุม Non-Aligned Movement (NAM) Summit ที่กรุงฮาวานา สาธารณรัฐคิวบา เมื่อปี ๒๕๔๙ ทั้งนี้ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างกัน แต่มีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation: FEALAC) รวมทั้งองค์กรรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้สังเกตุการณ์

เศรษฐกิจ

ในปี ๒๕๖๖ ซูรินามเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๒ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยมีมูลค่าการค้าทั้งหมด จำนวน ๓๔.๘๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๕.๔๘) ประกอบด้วย การส่งออกไปยังซูรินาม จำนวน ๓๔.๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากซูรินาม จำนวน ๐.๖๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า จำนวน ๓๓.๕๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังซูรินาม ได้แก่ (๑) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร (๓) ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำ (๔) ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง (๕) ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้

ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสาธารณรัฐซูรินาม ได้แก่ (๑) อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม (๒) เหล็กและเหล็กกล้า (๓) เยื่อไม้หรือเยื่อไม้ที่ได้จากวัตถุจำพวกเส้นใยเซลลูโลสอื่น ๆ (๔) สัตว์มีชีวิต (๕) เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบเครื่องแต่งกาย

ความร่วมมือทางวิชาการ

ระหว่างปี ๒๕๕๘-๒๕๖๖ รัฐบาลไทยได้มอบทุนเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) ให้ชาวซูรินาม จำนวน ๑๕ คน ในสาขาความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน