ไทย - สาธารณรัฐโดมินิกัน

ไทย - สาธารณรัฐโดมินิกัน

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 1,755 view

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยกับสาธารณรัฐโดมินิกันมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดเนื่องจากภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกัน ทั้งสองฝ่ายสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๐ (ครบรอบ ๕๗ ปี ในปี ๒๕๖๗) โดยสาธารณรัฐโดมินิกันถือเป็นมิตรประเทศที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งของไทยในแคริบเบียน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา แคนาดา มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐโดมินิกัน และได้เปิดทำการสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงซันโตโดมิงโก ในขณะที่ฝ่ายโดมินิกันมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโดมินิกันประจำสาธารณรัฐเกาหลีมีเขตอาณาครอบคลุมไทย และได้เปิดทำการสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์โดมินิกันประจำประเทศไทย

การเมือง

ไทยกับสาธารณรัฐโดมินิกันมีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่จำกัดและยังไม่มีการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือที่ดีและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในระดับพหุภาคีในกรอบองค์การสหประชาชาติ และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia - Latin America Cooperation: FEALAC)

เศรษฐกิจ

ในปี ๒๕๖๖ สาธารณรัฐโดมินิกันเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๓ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๑๔๔.๐๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๑๔.๒๔ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสาธารณรัฐโดมินิกัน จำนวน ๑๑๑.๔๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากสาธารณรัฐโดมินิกัน จำนวน ๓๒.๕๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า จำนวน ๗๘.๙๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปสาธารณรัฐโดมินิกันได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๓) ผลิตภัณฑ์ยาง (๔) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (๕) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ในขณะที่สินค้านำเข้าจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ได้แก่ (๑) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (๒) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (๓) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (๔) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (๕) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ความร่วมมือทางวิชาการ

กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ฝ่ายโดมินิกันผ่านการให้ทุนหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) และทุนการศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thailand International Postgraduate Programme: TIPP) โดยในช่วงปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ มีชาวโดมินิกันเข้าร่วมหลักสูตร AITC จำนวน ๒ คน ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสาขาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ