วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567
ภาพรวมความสัมพันธ์
ไทยกับเวเนซุเอลาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ (ครบรอบ ๔๒ ปี ในปี ๒๕๖๗) ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา มีเขตอาณาครอบคลุมเวเนซุเอลา นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงการากัส เวเนซุเอลา ขณะที่เวเนซุเอลามอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเวเนซุเอลาประจำมาเลเซียมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย
การเมือง
ไทยกับเวเนซุเอลามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด เนื่องจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่จำกัดและยังไม่มีการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างกัน
เศรษฐกิจ
เมื่อปี ๒๕๖๖ เวเนซุเอลาเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๐ ของประเทศไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ โดยมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๓๙.๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๒๖.๑๑ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเวเนซุเอลา จำนวน ๒๖.๕๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเวเนซุเอลา จำนวน ๑๓.๐๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ๑๓.๕๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการลงทุนระหว่างกัน
สินค้าส่งออกของไทยไปเวเนซุเอลา ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ (๓) ผลิตภัณฑ์ยาง (๔) ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และ (๕) เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน
สินค้านำเข้าของไทยจากเวเนซุเอลา ได้แก่ (๑) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ (๒) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (๓) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (๔) เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา และ (๕) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
ความร่วมมือทางวิชาการ
ระหว่างปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๖ มีชาวเวเนซุเอลาเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) ของกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน ๓ คน
ความร่วมมือพหุภาคี
ไทยกับเวเนซุเอลาดำเนินความร่วมมือผ่านกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะสหประชาชาติ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia - Latin America Cooperation: FEALAC)
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)