ไทย - บราซิล

ไทย - บราซิล

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 เม.ย. 2567

| 11,974 view

๑. การเมือง

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๑๗ เม.ย. ๒๕๐๒ (ครบ ๖๕ ปี ในปี ๒๕๖๗) การเยือนระดับสูง ฝ่ายไทย อาทิ (๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินเยือนบราซิลอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ๒๕๓๖ (๒) นายกรัฐมนตรีของไทยเคยเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ๔ ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๔๗) (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ๓ ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๕) ส่วนฝ่ายบราซิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เคยเยือนไทย ๒ ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๖๑) กลไกการหารือทวิภาคี ได้แก่ (๑) คณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ซึ่งมีการประชุมแล้ว ๒ ครั้ง และ (๒) การหารือทางการเมืองในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน (Political Consultations on Matters of Common Interest) โดยครั้งล่าสุด (ครั้งที่ ๓) จัดขึ้นในปี ๒๕๖๖ ที่กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล หัวหน้าคณะของการประชุมทั้ง ๓ ครั้งเป็นระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

๒. เศรษฐกิจ

ด้านการค้า ในปี ๒๕๖๖ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคบริบเบียน และอันดับที่ ๒๓ ของไทยในโลก ไทยนำเข้าสินค้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลมากที่สุดเป็นอันดับ ๑๖ (อันดับที่ ๑ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ) และส่งออกสินค้าไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลมากที่สุดเป็นอันดับที่ ๒๘ (อันดับที่ ๒ ในลาตินอเมริกา) โดยไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีปริมาณการค้ารวม ๖,๒๗๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประกอบด้วย การส่งออก ๑,๘๐๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า ๔,๔๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเสียดุลการค้า -๒,๖๖๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้านการลงทุนของภาคเอกชนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ครอบคลุมสาขาธุรกิจโรงแรม การผลิตเส้นใยและเคมีภัณฑ์ การผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และฟาร์มกุ้ง ส่วนสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีการลงทุนในไทยในสาขาการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ (bio-based polyethylene) การผลิตเครื่องพ่นสารเคมีแบบสะพายหลัง และ wire assembly

๓. ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล อยู่ระหว่างการผลักดันความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทดแทน โดยไทยสามารถเรียนรู้การผลิตเอทานอลจากอ้อยของสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Green Economy ทั้งนี้ ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร เมื่อปี ๒๕๖๕ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกันในการฝึกอบรมนักการทูต เมื่อปี ๒๕๖๖

๔. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อปี ๒๕๕๙ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อาทิ การจัดการโรงแรม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสาขาที่บราซิลสนใจเรียนรู้จากไทย ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับประชาชนสำหรับสถิติด้านการท่องเที่ยว ในปี ๒๕๖๖ ชาวบราซิลเดินทางมาไทยจำนวน ๕๗,๑๙๒ คน ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มลาตินอเมริกาฯ ขณะที่คนไทยเดินทางไปสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลในปี ๒๕๖๔ มีจำนวน ๒๐๗ คน ทั้งนี้ ไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (๙๐ วัน)

๕. ความร่วมมือด้านการศึกษา

มีความตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ อีกทั้ง สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีผู้เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ (The Annual International Training Courses: AITC) ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่วนสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยเพื่อศึกษาต่อในบราซิล

๖. ความร่วมมือด้านการทหาร

ประเทศไทยมีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ฝ่ายบราซิลมีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารในอินโดนีเซียซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ที่ผ่านมา กองทัพของไทยและบราซิลมีความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่นมาโดยตลอด และเมื่อปี นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร

๗. ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ประเทศไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล มีความร่วมมือในกรอบองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) G77 ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Southern Common Market: MERCOSUR) เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia - Latin America Cooperation: FEALAC) และในกรอบใต้-ใต้ นอกจากนี้ เมื่อปี ๒๕๖๕ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลได้รับการรับรองสถานะคู่เจรจาเฉพาะสาขาของอาเซียน (ASEAN Sectoral Dialogue Partner)