ไทย - ออสเตรเลีย

ไทย - ออสเตรเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ม.ค. 2567

| 7,747 view

๑. ภาพรวมความสัมพันธ์

๑.๑ ไทยและออสเตรเลียเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๗๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ๒๕๖๕ (สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๕) และได้ยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

๑.๒ ไทยมองออสเตรเลียเป็นมิตรที่ยาวนานและมุ่งเน้นเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ และขยายโอกาสทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมให้ออสเตรเลียมีบทบาทและปฏิสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคที่สร้างสรรค์ ขณะที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำและตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคดำเนินความสัมพันธ์กับไทยบนพื้นฐานของความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมทั้งมุ่งขยายบทบาทและความร่วมมือในอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

๑.๓ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยได้จัดทำวีดิทัศน์สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงศึกษาในออสเตรเลีย ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานเผยแพร่วีดิทัศน์สารคดีดังกล่าว ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ

๑.๔ ไทยและออสเตรเลียมีการหารือระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาพลวัตของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ดังนี้

๑.๔.๑ ระดับนายกรัฐมนตรี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พบหารือกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จำนวน ๒ ครั้ง ได้แก่ (๑) เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ในโอกาสที่นายแอลบาเนซีประสงค์แนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยเป็นการหารือผ่านทางโทรศัพท์ และ (๒) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่กรุงเทพฯ ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ในห้วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๓๐ ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

๑.๔.๒ ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น พบหารือกับนางสาวเพนนี หว่อง (Penny Wong) รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลีย จำนวน ๕ ครั้ง ได้แก่ (๑) เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ หลังจากที่ออสเตรเลียได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ (๒) เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๕ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงพนมเปญ (๓) เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๕ ในกิจกรรม side event “Regional Pathways to the Global Goals: ASEAN’s Approach towards SDGs Implementation and Sustainable Post COVID-19 Recovery” ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (๔) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ในการหารือทางโทรศัพท์เกี่ยวกับโครงการเรือดำน้ำของหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคง (Trilateral Security Partnership) ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (Australia – the United Kingdom – the United States: AUKUS) และ (๕) เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลียเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ ณ นครนิวยอร์ก

๑.๕ ไทยและออสเตรเลียเคยจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ไทย–ออสเตรเลีย ภายใต้ความตกลง Agreement on Bilateral Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Australia ซึ่งลงนามเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ เพื่อให้เป็นกลไกการหารือในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ณ นครเพิร์ท โดยมีนายกษิต ภิรมย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายสตีเฟน สมิธ เป็นประธานร่วมฝ่ายออสเตรเลีย

๑.๖ ไทยและออสเตรเลียมีกลไกการหารือทวิภาคีในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยล่าสุด ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Talks: SOTs) ไทย-ออสเตรเลีย รูปแบบ ๑+๑ ครั้งที่ ๑๙ (ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ไทย-ออสเตรเลีย รูปแบบ ๒+๒ ครั้งที่ ๒ (ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม) เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ กรุงแคนเบอร์รา

๑.๗ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และนางสาวเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลียได้ลงนามในแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๕ (Joint Plan of Action to Implement the Thailand - Australia Strategic Partnership 2022-2025) ในห้วงการเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าวระบุแผนงานระยะ ๔ ปี สำหรับขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลียในทุกมิติผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ

๒. ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง

๒.๑ ไทยและออสเตรเลียมีความร่วมมือในด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค ครอบคลุมหลายประเด็น รวมทั้งมีการฝึกร่วม/ฝึกผสมระหว่างเหล่าทัพของทั้งสองประเทศ ได้แก่ การฝึกผสม Chapel Gold (กองทัพบก) การฝึกผสม AUSTHAI (กองทัพเรือ) และการฝึกผสม Thai Boomerang (กองทัพอากาศ) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร (Joint Statement on Enhanced Information Sharing) ระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ไทย-ออสเตรเลีย รูปแบบ ๒+๒ ครั้งที่ ๒ ที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ณ กรุงแคนเบอร์รา

๒.๒ ไทยกับออสเตรเลียลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Counter Trafficking in Persons Centre of Excellence) เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ลงนามร่วมกับนางสาวเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลีย และมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานสักขีพยาน ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี และพิจารณาคดีการค้ามนุษย์

ล่าสุด ฝ่ายไทยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมขับเคลื่อนศูนย์ฯ (Joint Steering Committee: JSC) และคณะอนุกรรมการร่วมบริหารศูนย์ฯ (Joint Executive Committee: JEC) และเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้มีมติเห็นชอบการจัดโครงสร้างศูนย์ฯ โดย JEC ฝ่ายไทยจะหารือกับฝ่ายออสเตรเลียเกี่ยวกับที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ที่จะมาปฏิบัติงานร่วมหรือเป็นผู้ประสานงานของศูนย์ฯ ก่อนที่จะเสนอรายชื่อตำแหน่งและบุคลากรของศูนย์ฯ ให้ที่ประชุม JEC พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ในระยะแรกจะใช้พื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นที่ทำการชั่วคราวของศูนย์ฯ ไปพลางก่อน

๒.๓ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๖ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกับกระทรวงกิจการภายในออสเตรเลีย (Department of Home Affairs) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการแบ่งปันข้อมูล (Memorandum of Cooperation on Information Sharing) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง รวมถึงความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานพิทักษ์เขตแดนแห่งออสเตรเลีย (Australian Border Force) ภายใต้กระทรวงกิจการภายในออสเตรเลียเป็นหน่วยงานหลักของฝ่ายออสเตรเลียในเรื่องนี้

๓. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

๓.๑ ในปี ๒๕๖๕ ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับ ๙ ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๑๑ ของออสเตรเลีย มูลค่าการค้ารวมจำนวน ๑๘,๓๘๘.๙๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า จำนวน ๓,๙๑๙.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก ๑๑,๑๕๔.๐๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๗,๒๓๔.๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

๓.๒ ไทยและออสเตรเลียมีความตกลงการค้าเสรี (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ระหว่างกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ไทยมีกับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement Joint Commission: TAFTA JC) ครั้งที่ ๔ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีสำหรับหารือความร่วมมือและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการค้าและบริการตาม TAFTA อาทิ การยกเลิกภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้าอ่อนไหว การปรับปรุงพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า การตรวจรับรองด้านสุขอนามัยเพื่ออำนวยความสะดวกการส่งสินค้าเกษตรระหว่างกัน และประเด็นมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ทั้งสองประเทศมีแผนจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๒๐ ปีของการบังคับใช้ความตกลง TAFTA ในปี ๒๕๖๘ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงฯ และความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย

๓.๓ ไทย (กระทรวงพาณิชย์) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการดำเนินการด้านการเข้าสู่ตลาด ของความตกลงฯ (TAFTA Market Access Implementing Committee: TAFTA MAIC) ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามพันธกรณีการเปิดตลาดในทุกด้าน ตลอดจนการปรับปรุงพันธกรณีเพื่อประโยชน์ของการดำเนินการตามความตกลงฯ

๓.๔ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ไทยได้ผ่านการตรวจรับรองด้านสุขอนามัยแก่สินค้าอะโวคาโดสดจากออสเตรเลีย และออสเตรเลียได้ผ่านการตรวจรับรองฯ แก่สินค้าเป็ดปรุงสุกจากไทย ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถส่งออกสินค้าทั้งสองรายการระหว่างกันได้แล้ว ทั้งนี้ ไทยมีพันธกรณีที่จะต้องยกเลิกภาษีและโควตาสินค้านมและครีม และเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนยแก่ออสเตรเลียภายในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘ ซึ่งถือเป็นสินค้า ๒ รายการสุดท้ายที่อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิกภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้าเกษตรอ่อนไหวภายใต้ TAFTA

๓.๕ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ ไทยกับออสเตรเลียลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย (MoU between Government of Thailand and the Government of Australia on the Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นใน ๘ สาขาหลัก ได้แก่ (๑) เกษตร ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเทคโนโลยี (๒) การท่องเที่ยว (๓) บริการสุขภาพ (๔) การศึกษา (๕) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (๖) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (๗) การส่งเสริมการลงทุน และ (๘) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

บันทึกความเข้าใจ SECA กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำเอกสารรายละเอียดความร่วมมือ (Concept Note) และวาระการดำเนินการ (Implementation Agenda) เพื่อกำหนดขอบเขตและรายละเอียดโครงการความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามบันทึกความเข้าใจ SECA ข้างต้น

๔. ความสัมพันธ์ระดับประชาชน

๔.๑ ปัจจุบัน มีชาวออสเตรเลียอาศัยอยู่ในไทยประมาณ ๓๕,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ และมีคนไทยในออสเตรเลียประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นนักเรียน/นักศึกษาประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน ทั้งนี้ ฐานข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลียระบุว่า ในปี ๒๕๖๔ มีคนไทยในออสเตรเลียจำนวน ๙๔,๓๑๙ คน และในปี ๒๕๖๕ มีนักเรียน/นักศึกษาไทยจำนวน ๑๔,๘๙๒ คน

๔.๒ ปัจจุบัน ไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในออสเตรเลียมากเป็นอันดับที่ ๗ รองจากจีน อินเดีย เนปาล โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

๔.๓ ในปี ๒๕๖๕ มีนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางมาไทย ๓๓๖,๖๘๘ คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปออสเตรเลีย ๑๐๓,๘๔๐ คน

๕. บทบาทของออสเตรเลียในกรอบความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาค

๕.๑ ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค (ASEAN Centrality) และกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ โดยเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ อาเซียนและออสเตรเลียได้ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย ครั้งที่ ๑ โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ประกาศข้อริเริ่มต่าง ๆ สำหรับอาเซียน ได้แก่ (๑) ข้อริเริ่มออสเตรเลียเพื่ออนาคตของอาเซียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ ของอาเซียนใน ๑๐ ปี ข้างหน้า (๒) ข้อริเริ่มทุนการศึกษาออสเตรเลียเพื่ออาเซียน เพื่อให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนอาเซียน ๑๐๐ ทุนเพื่อศึกษาต่อในสาขาตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และ (๓) ข้อริเริ่มออสเตรเลียเพื่อการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและทักษะในอนาคตของอาเซียน เพื่อให้ทุนด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม ๓๖๐ ทุน

๕.๒ ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างบทบาทในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านความร่วมมือด้านความมั่นคง พลังงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจและลดอิทธิพลของจีนในอนุภูมิภาค โดยได้ริเริ่มโครงการภายใต้กรอบ Mekong-Australia Partnership (MAP) ได้แก่ Partnerships for Infrastructure (P4I) เพื่อให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมภายใต้โครงการ “Expanding Transport Cooperation through Partnerships for Infrastructure and the Ministry of Transport: P4I-MOT เพื่อจัดการฝึกอบรมและการให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ EV Bus และโครงการ Mekong-Australia Program: Transnational Crime (MAP-TC) เพื่อดำเนินความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทที่แข็งขันในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) ของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่ม

๕.๓ รัฐบาลออสเตรเลียแต่งตั้งนาย Nicholas Moore ประธาน Financial Regulator Assessment Authority ของออสเตรเลีย อดีตผู้บริหารของ Macquarie Group (ธุรกิจการเงินการธนาคาร) ให้เป็นผู้แทนพิเศษของออสเตรเลียประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Special Envoy for Southeast Asia) เพื่อจัดทำรายงาน Invested: Australia’s Southeast Asia Economic Strategy to 2040 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ สำหรับใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเพิ่มความตระหนักรู้ แก้ไขอุปสรรค เสริมสร้างขีดความสามารถ และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างออสเตรเลียกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ทั้งนี้ นาย Nicholas Moore เดินทางเยือนไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมและธันวาคม ๒๕๖๖ โดยได้พบหารือกับหลายภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนไทยที่ไปลงทุนในออสเตรเลีย ภาคเอกชนออสเตรเลียที่ลงทุนในไทย และ Australian-Thai Chamber of Commerce


* * * * * * *

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
กองแปซิฟิกใต้
มกราคม ๒๕๖๗