ไทย - ฟิจิ

ไทย - ฟิจิ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,472 view

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิจิ

      ไทยสถานปณาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟิจิเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-ฟิจิเป็นไปอย่างเป็นมิตรและใกล้ชิด และไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ โดยฟิจิเป็นประเทศที่ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการพบหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายโอกาส อาทิ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนฟิจิ ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศหมู่เกาะต่างๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๕ เมษายน ๒๕๓๙ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิจิเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ นายกรัฐมนตรีฟิจิพบหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่  ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และเข้าร่วมการประชุม TPIF ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ๒๕๕๙ ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเจรจาทำงาน (Working visit) และพลเอก ธนะศักดิ์  ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Island Development Forum-PIDF Leaders Summit) ครั้งที่ ๓ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๑-๔ กันยายน ๒๕๕๘ ณ กรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิ และเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ นาย Jone Usamate รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานของฟิจิ ในฐานหัวหน้าคณะ ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม TPIF ครั้งที่ 4 ไทยอยู่ในฐานะผู้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ฟิจิเล็งเห็นศักยภาพของไทยในการขยายการค้า การลงทุนและให้ความร่วมมือด้านวิชาการแก่ฟิจิ

      ไทยเห็นว่าฟิจิเป็นมิตรประเทศที่สำคัญในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก มีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเป็นที่ตั้งของสำนักงานระดับภูมิภาคขององค์กรระหว่างประเทศ อาทิ Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (EPOC) United Nations Development Program (UNDP) และเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการของ Pacific Islands Forum (PIF Secretariat) ทั้งยังมีบทบาทนำ/ สามารถชี้นำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีท่าทีคล้อยตาม รวมถึงเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเวทีระหว่างประเทศ

ด้านเศรษฐกิจ

      การค้า ในปี ๒๕๕๙ การค้าระหว่างไทย-ฟิจิ มีมูลค่า ๖๒.๘๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก ๕๙.๖๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปยังฟิจิ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ไทยนำเข้า ๓.๑๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าจากฟิจิ ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค โดยไทยได้ดุลการค้า ๕๖.๔๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ศักยภาพของฟิจิ ฟิจิเป็นแหล่งทรัพยากร ได้แก่ ประมง ป่าไม้ และแร่ธาตุ เป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค และยังมีความต้องการสิ่งก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของฟิจิ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ

ความช่วยเหลือทางวิชาการ

      แม้ไทยมิใช่ผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่แก่ฟิจิ แต่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการภายใต้กรอบ Annual International Training Courses (AITC) จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งฟิจิเป็นประเทศ     หมู่เกาะแปซิฟิกที่ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมในประเทศไทยมากที่สุดอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ – ๒๕๕๖ ฟิจิได้รับทุนจากไทยรวมจำนวน ๗๑ ทุน นอกจากความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ไทยได้บริจาคเงินให้แก่รัฐบาลฟิจิเพื่อบรรเทาอุทกภัยจำนวน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกในเดือนเมษายน ๒๕๔๗ จำนวน ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และครั้งที่สองในเดือนมกราคม ๒๕๕๒ จำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ให้เงินช่วยเหลือฟิจิในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ The Asia Pacific Inter-Governmental Consultations on Refugees, Displaced Persons and Migrants (APC) ครั้งที่ ๙ ณ นครนาดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ไทยได้บริจาคเงินให้แก่รัฐบาลฟิจิซึ่งประสบภัยพิบัติพายุไซโคลน Winston จำนวน ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ