ไทย - นาอูรู

ไทย - นาอูรู

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,937 view

นาอูรูเป็นประเทศรัฐเอกราชที่เล็กที่สุดในโลก มีประชากรเพียง 10,800 คน นาอูรูยังเป็นสาธารณรัฐที่เล็กที่สุดในโลกและมีการพัฒนาในระดับที่ต่ำ รวมทั้งขาดแคลนบุคคลากรที่มีศักยภาพด้านวิชาการ และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ นาอูรูไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้เนื่องจากมีสภาพดินที่แห้ง อย่างไรก็ดี  นาอูรูมีศักยภาพในการเป็นแหล่งทรัพยากรด้านการประมงที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปลาทูน่า

ด้านการเมือง

นาอูรูเคยเป็นประเทศภายใต้การปกครองของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2466-2488 และได้รับเอกราชจากออสเตรเลียในปี 2511 นาอูรูมีสภาผู้แทนที่เล็กที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเพียง 18 คน ทั้งนี้ นาอูรูมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทุกสามปี โดยประธานาธิบดีจะได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน นาอูรูมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างบ่อยครั้งแต่ก็ไม่ได้นําไปสู่ความขัดแย้งหรือความรุนแรงในสังคม

นาอูรูมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2559 โดยนายบารอน ดิวาเวสี วากา ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สองให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐนาอูรู

ด้านเศรษฐกิจ

นาอูรูเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เพราะ นาอูรูมีแหล่งแร่ฟอสเฟตที่สามารถนำมาใช้ได้เลย (readily mined phosphate) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก   แต่เมื่อแร่ฟอสเฟตที่สามารถนำมาใช้ได้เลยเริ่มหมดในช่วง 15 ปีที่แล้ว นาอูรูเริ่มประสบปัญหาด้านการเงิน โดยในปี 2547 นาอูรูได้ร้องขอความช่วยเหลือผ่าน Pacific Island Forum (PIF) ซึ่งผู้นำของประเทศ PIF ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการจัดระบบการบริหารภายใต้กรอบ Biketawa Declaration ซึ่งทำให้สถานการณ์ทาง การเงินของนาอูรูดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของนาอูรูยังคงต้องพึ่งพาทุนความช่วยเหลือจากออสเตรเลียเป็นหลัก และต้องพึ่งพาการนําเข้าสินค้าพื้นฐานรวมทั้งอาหารแปรรูปและแช่แข็งเกือบทั้งหมดจากออสเตรเลีย นอกจากนี้ นาอูรูเป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมผู้อพยพของออสเตรเลีย (Regional Processing Center) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และจ้างงานสําคัญของนาอูรู ในด้านการศึกษาและสาธารณสุข นาอูรูต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ฟิจิ ตองกา ปาปัวนิวกินี คิริบาส เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรครูและหมอ

อุตสาหกรรมหลักของนาอูรู ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมแร่ฟอสเฟต โดยนาอูรูยังมีแร่ฟอสเฟตที่สามารถทำการขุดเจาะได้อีกอย่างน้อย 20 ปี และ 2) อุตสาหกรรมการประมง อาทิ การให้สัมปทานประมงแก่เรือต่างชาติ

การค้าระหว่างไทย-นาอูรูยังมีมูลค่าไม่มากนัก ปี 2559 ไทย-นาอูรูมีมูลค่าการค้ารวม 0.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปนาอูรู คิดเป็นมูลค่า 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้นำเข้าสินค้าจากนาอูรูคิดเป็นมูลค่า 0.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไทยได้ดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 0.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจาก   นาอูรูส่วนใหญ่คือ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสดและแช่แข็ง

โดยที่นาอูรูต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งสินค้าไปขายที่หมู่เกาะแปซิฟิก โดยอาจใช้ปาปัวนิวกินีเป็นฐานในการกระจายสินค้า เพื่อลดค่าขนส่งสินค้า

การต่างประเทศ

นาอูรูเป็นสมาชิกพิเศษของเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 นาอูรูได้รับ    การยอมรับเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี 2542 นอกจากนี้นาอูรูยังเป็นสมาชิกของ Pacific Island Forum (PIF) และ Western and Central Pacific Fisheries Commission (WCPFC) ซึ่งการเคารพอธิปไตยและ  การเป็นมิตรกับทุกประเทศเป็นหลักการของนโยบายการต่างประเทศของนาอูรู นอกจากนี้ นาอูรูยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนาอูรู

ไทยและนาอูรูได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 และนาอูรูยังเป็นประเทศ  หมู่เกาะแปซิฟิกประเทศแรกและประเทศเดียวที่มีสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

ด้านการสาธารณสุข รัฐบาลนาอูรูได้มีการทำบันทึกความเข้าใจด้านการแพทย์กับโรงพยาบาลกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ปี 2557 โดยที่ผ่านมา มีชาวนาอูรูเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ประเทศไทยทั้งสิ้นจำนวน 73 คน รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 125,563,560.14

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ไทยอยู่ในฐานะประเทศผู้ให้แก่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการในสาขาต่าง ๆ อาทิ การเกษตร การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยว การประมง ในรูปแบบของการอบรมระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ระยะ 3 ปี โดยล่าสุด นาอูรูได้ส่งผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงานและฝึกอบรมภายใต้หลักสูตร “Mushroom cultivation for food security and rural development”ระหว่างวันที่ 25-29 ก.ค. 2559 จำนวน 10 คน ทั้งนี้ นาอูรูประสงค์จะขยาย ความร่วมมือกับไทยในสาขาอื่น ๆ อาทิ การประมงอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ