ไทย - นิวซีแลนด์

ไทย - นิวซีแลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ม.ค. 2567

| 7,294 view

๑. ภาพรวมความสัมพันธ์ทวิภาคี

  • ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๙ (ครบรอบ ๖๘ ปี ในปี ๒๕๖๗) โดยที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างใกล้ชิด โดยไทยและนิวซีแลนด์มีความร่วมมือที่ครอบคลุมหลายสาขา โดยเฉพาะ
    การศึกษา การทหาร และเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งนี้ นิวซีแลนด์มองไทยในฐานะพันธมิตรในภูมิภาคและส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในทุกระดับทั้งทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และเวทีระหว่างประเทศ
  • ไทยและนิวซีแลนด์มีกลไกการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี ได้แก่ (๑) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Joint Commission) ระดับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๕) (๒) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-นิวซีแลนด์ (Senior Officials’ Talks: SOTs) ระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ในรูปแบบการประชุมทางไกล

๒. ความร่วมมือ

      ๒.๑ การเมือง

  • ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์เป็นไปด้วยความราบรื่นผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนและหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ฝ่ายนิวซีแลนด์มีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒ อาทิ 
    ระดับนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีหารือกับนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ก่อนการรับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อจากนิวซีแลนด์ และเมื่อวันที่
    ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ณ กรุงเทพฯ
    ระดับประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา หารือกับนายเทรเวอร์ มัลลาร์ด อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ และ วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๔
    ระดับรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับนางนาไนอา มาฮูทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์
    กระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หารือกับนางคาร์เมล เซพูโลนี (Carmel Sepuloni) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศิลปะ วัฒนธรรมและมรดกของนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔
    ผ่านระบบการประชุมทางไกล
    ระดับกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภา การหารือระหว่างกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย - นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔

      ๒.๒ ด้านการทหารและความมั่นคง

  • ไทยและนิวซีแลนด์มีความร่วมมือทางการทหารผ่าน (๑) การแลกเปลี่ยนการเยือน (๒) การศึกษาภายใต้โครงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Mutual Assistance Program: MAP) ซึ่งเป็นโครงการที่นิวซีแลนด์ให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกศึกษากับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (๓) การประชุม Bilateral Defence Talks เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการทหารระหว่างกัน โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพการประชุม (๔) การจัดทำแผนความร่วมมือทางทหารระหว่างไทย-นิวซีแลนด์
    ระยะเวลา ๕ ปี และ (๕) การฝึกซ้อม ได้แก่ COBRA GOLD การฝึกร่วมผสมทางอากาศ AIR THAI KIWI และการฝึกลาดตระเวนร่วมทางทะเล และ (๖) ความร่วมมือในกรอบอาเซียน นิวซีแลนด์เป็นประเทศสมาชิกภายใต้กรอบการประชุม
    ADMM - Plus ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมนิวซีแลนด์ดำเนินความร่วมมือในการเป็นประธานร่วมในกรอบคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ

       ๒.๓ ด้านการค้า

  • ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๖ ของนิวซีแลนด์ ส่วนนิวซีแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ ๓๒ ของไทย โดยมีความร่วมมือภายใต้ความตกลงเสรีทางการค้าระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและระดับภูมิภาค ในปี ๒๕๖๕ ไทยกับนิวซีแลนด์มีมูลค่าการค้ารวม ๒,๘๒๕.๕๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ร้อยละ ๓.๒๔ โดยฝ่ายไทยได้ดุลการค้า ๘๖๗.๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ไทยและนิวซีแลนด์มีความตกลงทางการค้าระหว่างกัน ได้แก่ (๑) ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย - นิวซีแลนด์ (Thai - New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEP) (๒) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN - Australia - New Zealand Free: Trade Area - AANZFTA) และ (๓) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นอกจากนี้ ไทยและนิวซีแลนด์ต่างอยู่ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) เป็นกลุ่มประเทศที่ร่วมกันจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo - Pacific Economic Framework for Prosperity: IPEF) ทั้งนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans - Pacific Partnership: CPTPP)

       ๒.๔ ด้านการลงทุน

  • เมื่อปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๕ โครงการลงทุนจากนิวซีแลนด์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวนทั้งสิ้น ๘ โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๗๒.๖๕ ล้านบาท โดยโครงการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital industry) อุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าสูง (High Value Service) อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ (Metal and Material Industry) อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ (Machinery and Vehicles Industry) และอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agricultural, Food and Biotechnology Industries) ทั้งนี้ BOI ประเมิน ๔ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่นิวซีแลนด์มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry) อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร (Agricultural and Food Processing) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (Renewable Energy)

       ๒.๕ ด้านการศึกษา

  • ไทยและนิวซีแลนด์มีความร่วมมือด้านการศึกษาใต้ความตกลงว่าด้วยการศึกษา (Arrangement on Education Cooperation) ที่ได้ลงนามเมื่อปี ๒๕๕๐ และกรอบความร่วมมือว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนด้านการศึกษา (Framework for Cooperation on the Education Partnership) ลงนามเมื่อปี ๒๕๕๖ โดยภายใต้ความตกลงดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการศึกษา (Joint Working Group) เพื่อเป็นเวทีเจรจาหารือความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย
    ซึ่งจัดประชุมมาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๔ ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไป
  • ปัจจุบัน มีนักเรียนและนักศึกษาไทยในนิวซีแลนด์ประมาณ ๑,๘๐๐ คน ในปี ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) ร่วมกับ Auckland University of Technology (AUT) เปิดศูนย์ไทย-นิวซีแลนด์ (Thai New Zealand Center-TNZC) โดยให้บริการด้านศูนย์ภาษาอังกฤษ (English Language Centre) โดยครูชาวนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ ไทยต้องการยกระดับการสอนภาษาอังกฤษ โดยขอให้นิวซีแลนด์สนับสนุนครูหรืออาสาสมัครผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษและวิชาเฉพาะ
    อื่น ๆ ให้กับนักเรียนในโรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงการอบรมพัฒนาทักษะทางภาษาและการอบรมวิชาชีพสำหรับครูวิชาชีพ

        ๒.๖ ด้านการเกษตร

  • ไทยและนิวซีแลนด์มีความร่วมมือด้านการเกษตรในหลายด้าน อาทิ ด้านวิชาการเกษตร ด้านการค้าและส่งออก รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร ในปี ไทยและนิวซีแลนด์มีความร่วมมือด้านการเกษตรหลายด้าน อาทิ ด้านวิชาการเกษตร การค้าและส่งออก รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบอย่างยั่งยืนของเกษตรกรโคนมไทย
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของนิวซีแลนด์ที่มีศักยภาพจำนวน ๔ ราย (บริษัท PinnacleAg บริษัท Hortplus บริษัท eClean และ บริษัท Southern Humates) เยือนไทยเมื่อวันที่ ๒ - ๙ กันยายน ๒๕๖๖ ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมการเกษตรและอาหารของไทย เพื่อพบปะกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการที่เกี่ยวข้องของไทย รวมถึงศึกษาดูงานที่ฟาร์มตัวอย่างและศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรของไทย ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านนวัตกรรมเกษตรในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโคนมและโคเนื้อแบบครบวงจร การนำดิจิทัลแพลตฟอร์มและฐานข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศและปรับปริมาณการใช้ปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลงภายใต้แนวคิด Integrated Pest Management (IPM) การใช้เทคโนโลยีปฏิกรณ์เครื่องกรองน้ำชีวภาพ (Bioreactor) เพื่อบำบัดและบริหารจัดการน้ำสำหรับการชลประทานและอุตสาหกรรมการเกษตร และการนำปุ๋ยจุลินทรีฮิวเมตจากเกาะใต้ของนิวซีแลนด์มาทดลองใช้กับไร่พืชสวนของไทยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

        ๒.๗ ด้านวัฒนธรรม

  • เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้หารือกับนางคาร์เมล เซพูโลนี (Carmel Sepuloni) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศิลปะ วัฒนธรรมและมรดกของนิวซีแลนด์ ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล ในโอกาสครบรอบ ๖๕ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - นิวซีแลนด์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการด้านวัฒนธรรมในช่วงและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ รวมทั้งการจัดทำความตกลงด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน (Agreement on Cultural Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of New Zealand)
    ซึ่งร่างความตกลงด้านวัฒนธรรมอยู่ในการพิจารณาของฝ่ายนิวซีแลนด์

         ๒.๘ ด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน

  • ในช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ มีชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวที่นิวซีแลนด์ เฉลี่ยประมาณ ๒๔,๐๐๐ คนต่อปี(ปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒) และมีชาวนิวซีแลนด์เดินทางมาท่องเที่ยวไทย เฉลี่ยประมาณ ๑๐๔,๐๐๐ คน ต่อปี (ปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒) ต่อมา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ นิวซีแลนด์ได้ดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและนักเรียนนักศึกษาต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศนิวซีแลนด์ได้ 
  • ในปี ๒๕๖๔ มีชาวไทยที่พำนักในนิวซีแลนด์ประมาณ ๘,๘๘๕ คน โดยแบ่งเป็นผู้พำนักระยะยาว ๑,๗๕๐ คน แรงงาน ๕,๒๙๕ คน และนักเรียน/นักศึกษา ๑,๘๔๐ คน

๓. ความสัมพันธ์ในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี

          ๓.๑ ภาพรวมความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์

  • นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ โดยความร่วมมืออาเซียน-นิวซีแลนด์มีพัฒนาการและพลวัตมาอย่างต่อเนื่อง โดยนิวซีแลนด์ได้ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในสาขาที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการเกษตร
  • เมื่อปี ๒๕๖๓ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปีของความสัมพันธ์ฯ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้รับรอง (๑) แผนปฏิบัติการอาเซียน-นิวซีแลนด์ ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๕ (Plan of Action to Implement the ASEAN-New Zealand Strategic Partnership ๒๐๒๑-๒๐๒๕) และ (๒) ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมระดับผู้นำในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-นิวซีแลนด์: การสืบทอดความเป็นหุ้นส่วนการก้าวสู่อนาคตร่วมกัน (Joint ASEAN-New Zealand Leaders’ Vision Statement on the 45th Anniversary of ASEAN-New Zealand Dialogue Relations: A Legacy of Partnership, A Future Together) โดยกำหนดแนวทางความร่วมมือใน ๔ หัวข้อหลัก (4Ps) ได้แก่ สันติภาพ (Peace) ความมั่งคั่ง (Prosperity) ประชาชน (People) และโลก (Planet)
  • นิวซีแลนด์ให้ความสำคัญต่อพัฒนาการของอาเซียน โดยส่งเสริมการยึดมั่นในหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับระหว่างประเทศ ระบบการค้าพหุภาคี เสรีภาพ ในการเดินเรือและบินผ่าน บทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

           ๓.๒ บทบาทของนิวซีแลนด์ในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

  • นิวซีแลนด์มีบทบาทความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ อย่างยาวนานและต่อเนื่อง แม้ไม่ได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ กับประเทศลุ่มน้ำโขงของตนเอง ได้แก่ (๑) การร่วมกับประเทศลุ่มน้ำโขงจัดตั้งสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) เมื่อปี ๒๕๓๙ (๒) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการแก่อนุภูมิภาคฯ ผ่านกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๓ รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน ๓.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของ MRC (ค.ศ. ๒๐๒๑ - ๒๐๒๕) และ (๓) การเป็นสมาชิกของกลุ่มมิตรลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong) ภายใต้กรอบ MUSP         
  • นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ได้แสดงความประสงค์เข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) กลุ่มที่ ๒ ของ ACMECS ซึ่งACMECS จะพิจารณารับรองการเข้าเป็น DP ของนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการในช่วงการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๑๐ ที่ สปป. ลาว ในปี ๒๕๖๗ นอกจากนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของ ACMECS กับ DPs ได้ยกร่างแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Development Plan: JDP) ระหว่าง ACMECS กับนิวซีแลนด์ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือและการสนับสนุน ACMECS อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการระบุสาขาความร่วมมือที่เป็นไปได้และสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของนิวซีแลนด์ ได้แก่ (๑) การเกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรมด้านการเกษตร (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา และ (๓) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยไทยได้ส่งร่างของ JDP เพื่อให้นิวซีแลนด์พิจารณาแล้ว

* * * * *

กองแปซิฟิกใต้

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

มกราคม ๒๕๖๗