เมื่อวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2560 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วม การประชุมนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการบรรยายพิเศษเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดโดย American Association for Advancement of Science (AAAS) ที่กรุงวอชิงตันกิจกรรมทั้งสองในครั้งนี้มีดิฉันเป็นชาวไทยคนเดียวที่เข้าร่วม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูดอกซากุระผลิบานหรือที่เรียกกันว่า “Cherry Blossom” ออกดอกสีชมพูขาวทั้งเมือง
การประชุมแรกมีความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้สนใจกว่า 500 คนจาก32 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นที่ Ronald Reagan Building and International Centre ซึ่งเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการและการประชุมระหว่างประเทศ การประชุมมีลักษณะ panel กล่าวคือในแต่ละประเด็น จะมีผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านดังกล่าวอภิปรายราว 3-4 คน ก่อนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วม สอบถาม ทั้งนี้ ประเด็นที่ที่ประชุมอภิปรายมีความร่วมสมัยและเป็นจุดสนใจของประชาคมนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน อาทิ งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาที่คาดว่าจะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลซึ่งในปีที่ผ่านมา หลังจากที่นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณเรื่อยมาว่า จะมีการตัดลดงบประมาณ แม้กระทั่งสำหรับงานวิจัยขั้นพื้นฐาน ที่อาจกระทบต่อฐานะผู้นำโลกด้าน วทน. ของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐชายฝั่งต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือต่อการกัดเซาะโดยเฉพาะมลรัฐในแถบมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งผู้อภิปรายมีการนำเสนอตัวอย่างการดำเนินการของมลรัฐนอร์ธแคโรไลนา มลรัฐเซาท์แคโรไลนา มลรัฐฟลอริดา และมลรัฐเวอร์จิเนีย การรักษาความต่อเนื่องของนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานของรัฐ การเพิ่มขึ้นของตัวแสดงที่มิใช่รัฐ เช่น NGOs และองค์การสาธารณกุศล ในการดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์ โลกาภิวัฒน์หรือโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นและการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกกับมนุษย์ทำให้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น และบทบาทของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพิสูจน์และหาหลักฐานมาอ้างอิงคำกล่าวชักจูงผู้กำหนดนโยบายให้คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับตน หรือการระดมทุนจากองค์กรสาธารณกุศลหรือบริษัทรายใหญ่เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของตน
สำหรับอีกกิจกรรม ได้แก่ การบรรยายพิเศษเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์ เป็นการประชุมปิดที่จำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 300 คน จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ AAAS ซึ่งเป็น Green Building หรืออาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้รับรางวัล LEEDGold เมื่อปี 2552 และ LEED Platinum เมื่อปี 2556 จาก U.S. Green Building Council วิทยากรส่วนใหญ่ในการบรรยายนี้ เป็นผู้ดำเนินการด้านการทูตวิทยาศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ โดยประเด็นหลัก ๆ ของการบรรยายเกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การทูตสาธารณสุขโลกเพื่อจัดการความท้าทาย จากโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่ที่คร่าชีวิตประชาชนจำนวนมากและส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่พบการระบาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ความมั่นคงด้านไซเบอร์ที่เน้นให้เห็นว่าการที่ชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่จำกัดระยะทาง และดำเนินธุรกรรมได้เพียงแค่ปลายนิ้วแต่อาจเป็นช่องทางให้กลุ่มอาชญากรรมเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน กฎหมายหรือกฎระเบียบยังไม่พัฒนาไปป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้นและการสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน การป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากประเทศในทวีปอเมริกากลางและละตินอเมริกาโดยใช้เม็กซิโกเป็นฐานไปยังสหรัฐฯ และ การปกป้องตำแหน่งงานในประเทศ ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก นอกจากนั้นอาจเป็นการเปิดประเด็นให้มีการดำเนินมาตรการด้านอื่นของสหรัฐฯ ต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การทบทวนเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า)การใช้มาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ของดิฉันได้เปิดมุมมองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับการต่างประเทศ โดยยังเป็นโอกาสให้ดิฉันได้ปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายกับผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ปัจจุบัน การดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือการทูตมีหลากหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและรักษาสถานะศักดิ์ศรีของประเทศในเวทีโลก ในปัจจุบัน วทน. ได้ทวีบทบาทมากขึ้นและสามารถตอบสนองนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยยกสถานะเป็นประเทศรายได้สูงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ เป็นผู้นำด้าน วทน.ของอนุภูมิภาคและภูมิภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ สมดังคำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประเทศไทย ‘เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน’และไม่ทิ้งใครอยู่เบื้องหลัง
*****************************************************
โดย นางสาวภาวินี จันทร์สำราญ
นักการทูตชำนาญการ
กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้