ท่าทีของบริษัท Microsoft ต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

ท่าทีของบริษัท Microsoft ต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,124 view

      เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 นาย Satya Nadella CEO บริษัท Microsoft ให้สัมภาษณ์สํานักข่าว Bloomberg ระหว่างเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส เกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และประเด็นอื่น ๆ โดยนาย Nadella เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และจีนควรรีบหาทางยุติความขัดแย้งทางการค้ากันโดยเร็ว เพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทางเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความร่วมมือในสาขาสำคัญ เช่น ด้าน AI อย่างไรก็ดี ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน ระยะที่ 1 ที่ทั้งสองฝ่ายได้ ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา แสดงถึงความก้าวหน้าในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯ ในจีน อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศยังต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันโดยเฉพาะความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

นาย Satya Nadella ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ / รูป : Simon Dawson/Bloomberg

 

      ก่อนหน้านี้ นาย Brad Smith ประธานบริษัท Microsoft ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติข้อห้ามการส่งออกซอฟแวร์ของ Microsoft ไปยังบริษัท Huawei ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯใช้ ตอบโต้จีน โดยนาย Smith เห็นว่า ความมั่นคงของสหรัฐฯ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการให้ลูกค้าของ Huawei ใช้ระบบซอฟต์แวร์ของบริษัทตนแต่อย่างใด นาย Smith ยังเชื่อว่าจะเป็นการขยายโอกาสทางเทคโนโลยีให้กับนักวิจัยและประชาชนด้วย ซึ่งในที่สุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ Microsoft สามารถส่งออกสินค้าและซอฟแวร์ไปยังบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ของจีน รวมถึง Huawei ได้อีกครั้ง

 

นาย Brad Smith ประธานบริษัท Microsoft / รูป : Courtesy photo 

 

      ระหว่างการสัมภาษณ์ นาย Nadella แสดงความห่วงกังวลว่า สงครามการค้าสหรัฐ–จีน อาจส่งผลให้สหรัฐฯ และจีนแยกการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตออกเป็น 2 ระบบ ซึ่งเป็นความเห็นที่ต่างจากนาย Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Microsoft ซึ่งไม่คิดว่าสงครามการค้าจะนำไปสู่พัฒนาการเช่นนั้น นอกจากนี้ นาย Nadella ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะกฎหมายพลเมืองฉบับใหม่ (Citizenship Amendment Act) ของอินเดีย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2562 และได้รับการวิจารณ์ว่า สะท้อนนโยบายชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรี Modi และจะทำให้บุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย เช่น อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ และปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่ตั้งถิ่นฐานในอินเดีย สามารถขอสถานะพลเมืองอินเดียได้ยากขึ้น โดยนาย Nadella กังวลว่า หากประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติที่มีทักษะในสาขาที่เกี่ยวข้อง ประเทศนั้น ๆ จะเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์ต่าง ๆ มองว่า คําตอบของนาย Nadella เป็นการวิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบาย “America First” ที่เข้มงวดการตรวจคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์ในทางอ้อม แต่เป็นท่าทีที่สอดคล้องกับบริษัทเทคโนโลยีหลายรายที่มักจะสนับสนุนการดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะมาทํางานในบริษัทตน

 

การประท้วงกฎหมายพลเมืองฉบับใหม่ (Citizenship Amendment Act) ของอินเดีย / รูปจากเว็บไซต์ : https://www.bbc.com/news/world-asia-india-51203104  

 

      เกี่ยวกับนโยบายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นาย Nadella เปิดเผยว่า Microsoft มีแผนจะลงทุนด้านเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทและองค์กรต่าง ๆ เพื่อควบคุมก๊าซคาร์บอน โดยจะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ รวมถึง Microsoft Amazon และ Google ได้ถูกวิจารณ์เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการระบบซอฟแวร์และคลาวด์กับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ เช่น Chevron และ BP ที่เป็นบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ

 

*******************

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

มกราคม 2563

 

ที่มา : 

https://edition.cnn.com/2019/06/20/tech/tech-companies-against-tariff/index.html

https://www.bbc.com/news/technology-49753460?intlink_from_url=https://www.bbc.com/news/topics/cvenzmgyg0lt/microsoft&link_location=live-reporting-story

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-01-21/microsoft-ceo-warns-countries-need-to-support-immigration

https://www.bbc.com/news/technology-49943037?intlink_from_url=https://www.bbc.com/news/topics/cvenzmgyg0lt/microsoft&link_location=live-reporting-correspondent

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ