รู้จักโลกลาตินผ่านประสบการณ์นักเรียนทุนรัฐบาลไทยสาขาลาตินอเมริกาศึกษา (Latin American Studies)

รู้จักโลกลาตินผ่านประสบการณ์นักเรียนทุนรัฐบาลไทยสาขาลาตินอเมริกาศึกษา (Latin American Studies)

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,840 view

head_copy_ลาตินอเมริกาศึกษา_(Latin_America)

      วันนี้กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ขอพาผู้อ่านไปท่องโลกลาตินกับประสบการณ์ 7 ปีของ คุณแพร - ทิพาพร อรรถศิวานนท์ นักการทูตปฏิบัติการ กองลาตินอเมริกา ที่ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Universidad Iberoamericana ณ กรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก และศึกษาต่อปริญญาโทด้านลาตินอเมริกาศึกษาที่มหาวิทยาลัย Georgetown University ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
 
ภาพ_Thumbail
 

      นักการทูตที่เป็นนักเรียนทุนต่างกับนักการทูตที่สอบเข้าโดยตรงยังไง ?

      การเข้ารับราชการเป็นนักการทูตสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ หลัก ๆ มีอยู่ 2 แบบค่ะ อย่างแรก คือ สอบคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการเป็นนักการทูตปฏิบัติการ อย่างที่สอง คือ สอบชิงทุนรัฐบาลไทย ที่จัดสรรให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งแพรเข้ากระทรวงมาด้วยวิธีอย่างหลัง การเป็นนักเรียนทุน หมายถึง นักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี-โทของรัฐบาล ที่จัดสรรโดยสำนักงาน ก.พ โดยเงื่อนไขของทุน คือ ต้องใช้ทุนเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ไปเรียน อย่างแพรไปเรียน 7 ปี ก็ต้องกลับมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ 14 ปี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบคัดเลือกค่ะ ซึ่งพอเข้ามาทำงานแล้วก็จะเป็นนักการทูตเหมือนกัน ทำงานเหมือนกับคนที่สอบคัดเลือกและบรรจุเข้ามาเป็นนักการทูตปฏิบัติการ 

 

      เลือกสาขาเรียนเองหรือเป็นข้อกำหนดของทุน ?

      กรณีของแพรทั้งสองอย่างเลยค่ะ (หัวเราะ) ทุนจะกำหนดสาขาวิชาที่รัฐบาลต้องการไว้ให้เราแล้วแต่แรก แต่ถ้าในประเทศที่เราไปไม่มีการเรียนการสอนในสาขานั้น เราก็สามารถหาสาขาที่ใกล้เคียงและเสนอให้ ก.พ. พิจารณาได้ อย่างแพรทาง ก.พ. ต้องการให้แพรไปเรียนลาตินศึกษาที่ประเทศเม็กซิโก แต่ที่เม็กซิโกไม่มีสาขานี้ เลยต้องปรึกษากับทางกระทรวงฯ เพื่อเรียนสาขาที่ใกล้เคียงไปก่อน แพรจึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และค่อยต่อปริญญาโทสาขาลาตินอเมริกาศึกษาที่ Georgetown University แทน

 

line_285562303468742

รูปปั้น John Carroll ผู้ก่อตั้ง Georgetown University

 

line_285557792278740

ตราสัญลักษณ์ของ Georgetown University

 

      ทำไมถึงเลือกเรียนลาตินอเมริกาศึกษา ?

      เป็นเพราะว่าตอบโจทย์กับภาษาสเปนที่เราเคยเรียนมาพอดี และตอนนั้นสาขาที่มีให้เลือกอีกสองสาขาเป็นด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแพรไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่

 

line_285552479118488

 

      ได้ยินมาว่าคุณแพรเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาสายศิลป์-ภาษาสเปนรุ่นแรก ทำไมเลือกเรียนสเปน ?

      แพรไม่ค่อยสนใจภาษาเอเชียค่ะ เหตุผลหลักเลยก็เพราะไม่อยากจำตัวอักษรใหม่ และตอนนั้นสนใจฝรั่งเศสกับสเปน เราก็เลยไปหาข้อมูลมาจากรุ่นพี่ เราก็ได้คำแนะนำมาว่าภาษาฝรั่งเศสคนเรียนเยอะแล้ว ลองสเปนไหม เพราะภาษาสเปนเป็นภาษาที่คนใช้เยอะเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ในประเทศสเปนหรือประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกานะ แต่ในสหรัฐฯ ก็ใช้กันเยอะ และก็เป็น 1 ใน 6 ภาษาราชการของ UN ด้วย คนไทยยังสนใจภาษาสเปนน้อย เราก็ไม่ค่อยอยากซ้ำใคร จึงตัดสินใจเลือกเรียนภาษาสเปน

 

line_285555324404822_1

 

      นักเรียนสาขาลาตินศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาติไหน ?

      ส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติอเมริกัน และมีส่วนหนึ่งมาจากลาตินอเมริกาด้วย แต่คนเอเชียมีค่อนข้างน้อย ตอนที่เรียนมีแค่ 2 คน คือแพรกับเพื่อนคนจีน ซึ่งทั้งรุ่นมี 15 คน คนลาตินส่วนใหญ่ก็เป็นคนเม็กซิกัน บราซิล และอาร์เจนตินา แพรคิดว่าลาตินอเมริกาศึกษาก็เป็นสาขาที่นิยมเหมือนกันในหลายประเทศ แต่ยังไม่ค่อยนิยมในเอเชีย

 

line_285563648084534

 

line_285559293285866

 

      ตอนใช้ชีวิตอยู่ที่เม็กซิโก กับตอนเรียนลาตินอเมริกาศึกษาที่สหรัฐฯ แตกต่างกันไหม อย่างไร ?

      แตกต่างกันค่ะ ตอนอยู่ที่เม็กซิโกหลัก ๆ เลยนอกจากการเรียนแล้ว แพรจะได้เรียนรู้เรื่องภาษาและการใช้ชีวิตมากกว่า เพราะภาษาสเปนเรายังสื่อสารได้ไม่ดีมากนัก แม้จะเรียนจากเมืองไทยไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ และที่สำคัญ การอยู่เม็กซิโกทำให้เราเข้าใจประเทศนี้มากขึ้น เปลี่ยนความคิดแพรไปเลย เพราะก่อนจะเดินทางมาแพรก็มีภาพเม็กซิโกในจินตนาการว่าต้องอากาศร้อน ๆ เดินไปไหนมีแต่ทะเลทราย ต้นกระบองเพชร คนสวมหมวกใบใหญ่ ๆ เหมือนในหนังคาวบอย แล้วจะอันตรายไหม เพราะเวลาพูดถึงเม็กซิโก อาจมีภาพความไม่ปลอดภัยนิดหน่อย แต่ตลอดเวลาที่แพรอยู่ในเม็กซิโก แพรไม่เคยเจอเหตุการณ์อันตรายเลย ไม่ได้บอกว่าไม่มีนะ แต่เราไปอยู่เราก็รู้ว่าแหล่งไหนปลอดภัย แหล่งไหนอันตราย ก็เลยทำให้เราก็รู้จักประเทศนี้ในด้านดีมากขึ้นค่ะ

 

line_287003353229096

 

line_287015441392893

 

      แต่ถ้าเทียบกับตอนที่เรียนอยู่ในสหรัฐฯ แพรจะได้เรียนรู้โลกลาตินในเชิงทฤษฎี เชิงวิชาการ และเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแง่มุมของลาตินอเมริกา ส่วนแง่มุมการใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ที่เราได้เห็นคือ เราได้สัมผัสผู้อพยพชาวลาตินในสหรัฐฯ เราจะเห็นคนที่ทำงานในภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่มาจากเม็กซิโกและอเมริกากลาง เท่าที่แพรสอบถามมา ทำให้รู้ว่า ส่วนใหญ่ผู้อพยพในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มาจากอเมริกากลาง เช่น เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว ส่วนคนเม็กซิกันมักจะอพยพไปอยู่ในแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐเท็กซัส และนครชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ 

 

line_287009102976265

พลาซารัฐธรรมนูญ (Plaza de la Constitución) ณ กรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก

 

      ทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร ?

      แพรรู้อยู่แล้วว่าต้องกลับมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ เลยอยากทำอะไรเกี่ยวกับนโยบายของไทยที่สามารถเชื่อมโยงกับโลกลาตินได้ และเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่แพรอยากรู้เองด้วย โดยหลักสูตรที่ Georgetown University ไม่เหมือนที่อื่น เพราะจะเน้นงานเชิงปฏิบัติ ซึ่งแพรต้องคิดโครงการที่ใช้ได้จริงในองค์กรที่เราเลือกศึกษา ดังนั้นงานที่แพรเขียนจึงเป็นในเชิงข้อเสนอแนะสำหรับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแสวงหาความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการอุทกภัยระหว่างไทยกับลาตินอเมริกา

      เหตุผลที่สนใจเรื่องนี้ เพราะว่าไทยกับลาตินประสบอุทกภัยหลายอย่างเหมือนกันทั้ง คลื่นยักษ์สึนามิ น้ำท่วม และปัญหาภัยแล้ง ลักษณะทางภูมิศาสตร์เราอยู่ระนาบเดียวกัน มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกัน เรามีปัญหาใกล้เคียงกัน และมีความเจริญทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ทำไมเราไม่มานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญซึ่งกันและกัน เราควรมานั่งหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยกัน เพื่อที่จะได้นำมาปรับใช้ในแต่ละประเทศต่อไป ซึ่งในทางปฏิบัติก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน 

 

line_287006071266014

 

      ได้แรงบันดาลใจเรื่องการจัดการอุทกภัยมาจากไหน ?

      แพรมีแรงบันดาลใจมาจากทฤษฎีความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและวิชาการ แทนการพึ่งพาหรือรอคอยความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ฝ่ายเดียว (North-South Cooperation) กอปรกับไทยกับลาตินก็อยู่ไกลกัน จึงทำให้เราไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่ เราเห็นช่องว่างนี้ตรงนี้เลยอยากทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันมากขึ้น นอกจากนี้ แพรได้เห็นประเทศแถบทะเลแคริบเบียนหลายประเทศที่อยู่ในกลุ่ม CARICOM เขาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติมาก โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย คือเขาไม่ได้สนใจเรื่องการส่งออกหรือการนำเข้าสินค้าเป็นหลัก เขาสนใจเรื่องว่า ถ้าน้ำท่วม เขาจะอยู่ยังไง ประเทศเขาจะจมหายไปไหม แพรเลยคิดว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยนะ

 

line_287011003802933

 

      ตอนเรียนอยู่ที่เม็กซิโกเจอภัยพิบัติบ้างไหม ?

      เจอน้ำท่วมบ้าง เหมือนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทั่วไป และก็เคยเจอแผ่นดินไหว เพราะเม็กซิโกตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนไฟ” (Ring of Fire) จึงเกิดแผ่นดินไหวบ่อย รวมถึงภูเขาไฟปะทุอยู่บ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งที่รู้สึกถึงแผ่นดินไหวชัดมาก เพราะนั่งอยู่ดี ๆ ก็เก้าอี้สั่น แต่ตอนแรกแพรไม่คิดว่าเป็นแผ่นดินไหว เลยถามเพื่อนว่าห้องเรียนข้าง ๆ เปิดลำโพงดังไปรึเปล่า (หัวเราะ) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพราะที่มหาวิทยาลัยจะมีการซ้อมหนีภัยแผ่นดินไหวกันอยู่แล้ว

 

      ที่กรุงเม็กซิโกมีภัยแล้งบ้างไหม ?

      แน่นอนว่ามีอยู่แล้วค่ะ เพราะในอดีต กรุงเม็กซิโกเป็นเกาะ แต่พอช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของสเปน ก็มีการถมพื้นที่ตรงนั้นจนแม่น้ำหายไป ทำให้กรุงเม็กซิโกเกิดภัยแล้งบ่อย จึงต้องดึงน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง/รัฐใกล้เคียงอื่นมาใช้ โดยทางการจะประกาศขอตัดการใช้น้ำวันนี้ เวลานี้ แต่จะตัดไม่นาน เราก็ต้องมีการตกลงกับเพื่อนที่แชร์บ้านกันอยู่ละว่าให้ช่วยกันประหยัดน้ำหน่อยนะ หรือบางทีก็เคยหอบเสื้อผ้าไปอาบน้ำที่โรงเรียน เพราะลืมก็มี (หัวเราะ)

 

line_287004368665638

 

      เม็กซิโกมีอะไรอีก ?

      มีรถติดเหมือนเมืองไทยค่ะ (หัวเราะ) แต่เราพอเดาได้นะว่าจะติดช่วงไหนบ้าง เช่น วันเสาร์และวันอาทิตย์จะโล่ง ไม่เหมือนกรุงเทพที่คาดเดาไม่ได้ เม็กซิโก ซิตี มีรถสาธารณะหลากหลาย รถเมล์เลนพิเศษ หรือ Metrobús (คล้าย BRT บ้านเรา) รถเมล์แบบด่วน (Expreso) ที่จะจอดรับ-ส่งคนนอกป้าย รถเมล์ที่ขึ้นได้เฉพาะเด็กและสตรีเท่านั้น รถเมล์ไฟฟ้า (ปลอดควันพิษ) รถเมล์คันเล็ก (ขับเร็วมากคล้ายมินิบัสบ้านเรา) และ อูเบอร์ (Uber) ที่ปลอดภัย และราคาถูกกว่าแท็กซี่ ซึ่งแท็กซี่จะมีมิเตอร์สองราคา คือ ราคาถูกกับราคาแพง ต้องคอยดูให้ดี โดยมักเห็นแท็กซี่ราคาแพงได้ในช่วงกลางคืนค่ะ

 

line_287003984683555

 

      นอกจากนี้ ที่กรุงเม็กซิโกยังมี รถไฟฟ้าใต้ดินหรือเมโทร (Metro) ซึ่งมีข้อดี คือ ราคาย่อมเยาว์ เพราะมีราคาเดียวตลอดสาย เปลี่ยนกี่สายก็ได้ ตอนแพรอยู่ราคา 5 เปโซ (ราว 10 บาทเอง) และสิ่งที่ประทับใจมากที่สุด คือมีบ่อยครั้งที่ต้องขึ้นรถเมล์แล้วไม่มีเหรียญ เราสามารถตะโกนถามคนในรถได้เลยว่าใครมีเหรียญให้แลกบ้าง ผู้โดยสารก็จะรีบหาเหรียญมาแลกกับเรา หรือบางทีก็มีคนใจดีจ่ายค่าโดยสารให้ และบางทีคนขับก็ไม่คิดเงิน (หัวเราะ) อ้อ ที่กรุงเม็กซิโกไม่มีกระเป๋ารถเมล์เหมือนบ้านเราค่ะ 

 

line_287018449109978

 

      เม็กซิโกกับสหรัฐฯ ชอบที่ไหนมากกว่ากัน ?

      ชอบเม็กซิโกมากกว่า เพราะคนเม็กซิกันมีความเห็นอกเห็นใจกันค่อนข้างสูง แม้หลายอย่างในเม็กซิโกอาจดูยุ่งเหยิงไปหน่อย แต่แพรชอบตรงที่ผู้คนดูไม่เป็นหุ่นยนต์ และคนลาตินก็มีนิสัยชอบช่วยเหลือ บางอย่างเขาไม่รู้ เขาก็มักจะไม่ปฏิเสธ เขาจะตอบมาแบบผิด ๆ อย่างเช่นเราถามว่า ห้องน้ำอยู่ไหน เขาจะบอกว่าไปทางนั้น แต่พอเราเดินตามไป กลับไม่เจอ เราต้องถามทางอย่างต่ำประมาณ 5 คน ส่วนเวลาติดต่อเรื่องเอกสารอะไรก็ค่อนข้างยุ่งยากนิดหน่อย อาจต้องเดินทางไปยังแต่ละสำนักงานที่อยู่คนละมุมเมือง เราอาจต้องถึกนิดหนึ่ง (หัวเราะ) ซึ่งตรงข้ามกับที่สหรัฐฯ ที่ผู้คนจะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า เวลาทำธุรกรรมเรื่องใดก็จะเป็นลักษณะ one-stop service หลายอย่างเป็นระบบระเบียบ แต่นี่แหละค่ะเสน่ห์ของโลกลาตินอเมริกาจะต้องซับซ้อนหน่อย (หัวเราะ)

 

line_287007878153723

 

line_287005135443639

 

      มุมมองโดยรวมระหว่างไทยกับลาตินอเมริกา

      โดยรวมคนลาตินยังไม่คุ้นเคยกับประเทศไทย ไม่รู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าคนเอเชีย คือ คนจีน ไม่รู้ว่าไทยอยู่ตรงไหน บางคนคิดว่า ปาเกียวเป็นนักมวยมาจากประเทศไทย ในทางกลับกัน คนไทยก็ยังไม่ค่อยคุ้นชินกับชื่อของหลายประเทศในลาตินอเมริกา ยังคงคิดว่าโบลิเวียกับนิการากัวอยู่แอฟริกา ซึ่งไม่แปลกเพราะไทยกับลาตินอเมริกาอยู่ไกลกัน แต่แพรก็อยากให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น เพราะลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ มีอะไรหลายอย่างใกล้เคียงกับไทย เชื่อว่าถ้าใครหลายคนได้รู้จักกับโลกลาตินแล้วคงต้องอยากไปสัมผัสด้วยตัวเองแน่นอน 

 

* * * * * * * * * * * *

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคลาตินอเมริกา: http://discoverlatinamerica.net/

หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Discover Latin America ได้ที่ App Store และ Play Store

 

เรื่อง: กัญญาภัค สาสงเคราะห์

ภาพ: ทิพาพร อรรถศิวานนท์

ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหา: มิ่งเมือง วัฒนะศุกร์