รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี

รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,591 view

     

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับประเทศปาปัวนิวกินีให้มากขึ้น ด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับประเทศปาปัวนิวกินี 11 ข้อ

 

 

     รัฐเอกราชปาปัวนิวกินีตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของเกาะนิวกินี (พื้นที่ทางตะวันตกเป็นของอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากเกาะกรีนแลนด์) โดยมีพื้นที่ 786,000 ตร.กม.

 

 

     นักเดินเรือชาวโปรตุเกสและสเปนเป็นผู้ค้นพบเกาะนิวกินี โดยเมื่อปี ค.ศ. 1526-27 Jorge de Meneses นักเดินเรือชาวโปรตุเกสตั้งชื่อเกาะนี้ว่า ilhas dos Papuas ซึ่งแปลว่า ดินแดนของผู้คนผมหยิก (“Papua” เป็นภาษาท้องถิ่นที่หมายถึงคนที่มีผมฟู) และเมื่อปี ค.ศ. 1556 Íñigo Ortíz de Retes นักเดินเรือชาวสเปน เรียกเกาะนี้ว่า Nueva Guinea หรือ New Guinea ในภาษาอังกฤษ เพราะเห็นว่าผู้คนบนเกาะมีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคน Guinea ซึ่งอยู่ในแถบแอฟริกา

 

 

     ชื่อ ‘ปาปัวนิวกินี’ มาจากการรวมสองอาณานิคมของอังกฤษและเยอรมนีเข้าด้วยกัน โดยเมื่อ ค.ศ. 1884 เยอรมนีได้เข้ามาตั้งอาณานิคม German New Guinea บริเวณตอนเหนือของปาปัวนิวกินี และในปีเดียวกันอังกฤษก็ได้เข้ามาตั้งอาณานิคม British New Guinea ทางตอนใต้

     อาณานิคมทั้งสองถูกส่งผ่านให้ออสเตรเลียเป็นผู้อารักขาในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยออสเตรเลียได้ British New Guinea ทางตอนใต้เมื่อปี ค.ศ. 1905 และเปลี่ยนชื่อเป็น Territory of Papua ต่อมาออสเตรเลียได้ German New Guinea หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเปลี่ยนชื่อเป็น Territory of New Guinea

     Territory of Papua and New Guinea อยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลียจนกระทั่งได้รับเอกราชจากออสเตรเลียในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1975 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของประเทศ ‘ปาปัวนิวกินี’

 

 

      ประชากรส่วนใหญ่ของปาปัวนิวกินียังคงอาศัยอยู่กันเป็นชนเผ่าหรือหมู่บ้านที่มีครอบครัวหนึ่งเป็นผู้นำ โดยมีประชากรเพียงร้อยละ 18 ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมือง เช่น กรุงพอร์ตมอร์สบี (Port Moresby) และด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นป่าเขาทำให้ชนเผ่าเหล่านี้มีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันอย่างมาก คาดว่ามีภาษาประมาณ 800 ภาษา โดยมีภาษาพิดจิน (Pidgin) เป็นภาษาราชการและภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไป

 

 

     ในปาปัวนิวกินียังมีชนเผ่าอีกหลายเผ่าที่ไม่เคยเจอโลกภายนอก และยังไม่มีการสำรวจเก็บข้อมูลที่ทำให้ทราบแน่ชัดว่ามีชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเกาะนิวกินีจำนวนเท่าไหร่

     สาเหตุหนึ่งที่มีการสำรวจพื้นที่ป่าดิบชื้นในเกาะนิวกินีน้อยคือ หลายพื้นที่ของเกาะนี้ในอดีตเคยมีการล่าหัวมนุษย์และการกินเนื้อมนุษย์ แม้ว่าต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 รัฐบาลปาปัวนิวกินีได้มีการสั่งห้ามและปราบปรามวัฒนธรรมดังกล่าว แต่ก็ยังมีชนเผ่าบางกลุ่มที่ไม่เคยเจอโลกภายนอก และอาจเป็นอันตรายต่อนักสำรวจที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของชนเผ่าได้

 

 

     นกปักษาสวรรค์เป็นนกประจำชาติปาปัวนิวกินี ปรากฏอยู่บนธงชาติเป็นภาพเงาสีทองบนพื้นธงสีแดง โดยนกปักษาสวรรค์เป็นนกที่กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของเกาะนิวกินี หมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย และบางส่วนของออสเตรเลีย

     นกปักษาสวรรค์มีสีสันสวยงาม ขนหางเหยียดยาวเป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย หรือม้วนเป็นรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิด ขนของนกปักษาสวรรค์จึงเป็นสินค้าสำคัญของปาปัวนิวกินี

 

 

     นกพิโทฮุย (Hooded Pitohui) เป็นนกชนิดเดียวบนโลกที่มีพิษ ซึ่งพบได้ที่เกาะนิวกินีเท่านั้น โดยขนของนกพิโทฮุยนั้นมีพิษชนิดเดียวกับกบลูกศรพิษ (Poison dart frog) ของอเมริกาใต้ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่า และฆ่าปรสิตภายนอกต่างๆ

 

 

     เสาวรสของปาปัวนิวกินี (highland yellow passion fruit) ต่างจากเสาวรสที่เราเห็นกันในเมืองไทย โดยเสาวรสของปาปัวนิวกินีมีเปลือกสีส้มคล้ายไข่ไก่ และบางกว่าเปลือกเสาวรสสีม่วงทั่วไป ทำให้ทานง่ายกว่า นอกจากนี้เนื้อของเสาวรสปาปัวนิวกินียังมีรสหวานและฉ่ำกว่าอีกด้วย

 

 

      เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ แต่ลักษณะรูปร่างคล้ายหนู มีขนด้านหลังสีน้ำตาล หน้าท้องสีขาว อาศัยอยู่บนต้นไม้ และสามารถกระโดดขึ้นต้นไม้ได้สูงถึง 60 ฟุต พบได้ในแถบป่าดงดิบของปาปัวนิวกินี อินโดนีเซีย และทางตอนเหนือของรัฐ ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

 

 

      ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนสูง โดยเฉพาะการทำประมงปลาทูน่า ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อส่งออกไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป  นอกจากนี้ ปาปัวนิวกินียังมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมขนาดใหญ่ เป็นแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และมีภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์

 

 

       ปาปัวนิวกินีเป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกอาเซียน โดยขณะนี้ยังมีสถานะเป็นเพียงประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษ โดยได้รับสถานะดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1976

* * * * 

มัญชุลิกา วงศ์ไชย

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

กันยายน 2562