วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ส.ค. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
บทสัมภาษณ์นี้ขอนำผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของนักการทูตที่ประจำการอยู่ที่ต่างประเทศ ทั้งด้านการทำงาน วัฒนธรรมและมุมมองการใช้ชีวิต ลองมาดูกันว่านักการทูตไทยไปทำอะไรในการแข่งขัน กีฬาระดับโลก? บราซิลชิลล์ขนาดไหน? และประเทศนี้น่าสนใจอย่างไร?
คุณปาล์ม – โกสินทร์ ผลมั่ง นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) เข้ามาทำงานในกระทรวงการต่างประเทศตามความฝันหลังเรียนจบ โดยหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทยกับประเทศต่าง ๆ
คุณปาล์มเคยปฏิบัติงานอยู่ที่กรมพิธีการทูต และกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ก่อนจะออกประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างปี 2557-2561 เป็นระยะเวลา 4 ปี ก่อนการสัมภาษณ์คุณปาล์มได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศบราซิลไว้ว่า
- บราซิลเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรมาก มีทรัพยากรหลากหลาย และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา
- สังคมบราซิลเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและภาษา รวมถึงเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ
- ชาวบราซิเลียนนิยมความเป็นอิสระ ชอบความสนุกสนาน มีใจรักในเสียงดนตรี และกีฬาฟุตบอล
- บราซิลเป็นประเทศในแถบลาตินอเมริกาประเทศเดียวที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ส่วนประเทศอื่น ๆ จะใช้ภาษาสเปน
Sea Sand Sun ที่จินตนาการ
พี่ไม่เคยไปลาตินอเมริกามาก่อน ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก เตรียมใจไปอย่างเดียว ภาพที่คิดในใจเกี่ยวกับบราซิลคือ ความสนุกสนาน รื่นเริง มีบรรยากาศ sea sand sun มีงานปาร์ตี้ นึกถึงบรรยากาศที่ครื้นเครงของนครรีโอเดจาเนโร แต่พอไปถึงจริง ๆ กลับกลายเป็นอีกภาพหนึ่ง เมืองที่พี่ไปถึงไม่เหมือนที่จินตนาการไว้ตั้งแต่ต้น เพราะ “บราซิเลีย” เป็นเมืองหลวงสร้างใหม่ที่เพิ่งย้ายมา 60 ปี สถานที่ราชการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองนี้ และมีสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ อยู่ที่บราซิเลียกว่า 100 ประเทศ พี่ไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวที่อื่นบ่อย เพราะจะไปไหนทีต้องนั่งเครื่องบินไป วันหยุดก็จะมีงานปาร์ตี้กับเพื่อนบ้างหรือมีงานเลี้ยงสไตล์นักการทูตบ้าง
นักการทูตกับประสบการณ์ในงานแข่งขันกีฬาระดับโลก
ปีที่พี่ไปประจำการ เป็นปีที่บราซิลเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกพอดี (FIFA World Cup 2014) แต่การแข่งขันได้จบลงก่อนที่พี่จะเดินทางไปถึง เลยได้ทำแค่เขียนข่าวประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่งานที่พี่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 และ พาราลิมปิก 2016 ที่พี่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานระหว่างคณะนักกีฬา เจ้าหน้าที่ไทยและสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกทีมนักกีฬาไทยที่ไปแข่งขัน และตอนพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก พี่ได้มีโอกาสเดินลงสนามมารากานัง (Maracanã Stadium) พร้อมนักกีฬาไทยและผู้ฝึกสอนด้วย ได้เจอนักกีฬาจากทั่วโลกเลย รู้สึกภูมิใจและตื่นเต้นมาก
อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่นี้หน่อย
ตอนนั้นพี่ต้องทำทุกอย่าง ดูแลตั้งแต่เรื่องรับ-ส่งคณะนักกีฬาและผู้ฝึกสอนที่สนามบิน จัดการเรื่องรถ จองโรงแรม จัดขบวนรถ motorcade ดูแลเรื่องพิธีลงนาม เพราะในตอนนั้นมีพิธีลงนามความตกลงความร่วมมือการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยกับบราซิลด้วย
หน้าที่ของพี่อีกอย่างคือ รายงานข่าวนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลให้กระทรวงฯ เขียนข่าวเอง ถ่ายรูปเอง โพสต์ลงสื่อออนไลน์เอง ดูแลแม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน คอยหาน้ำปลา น้ำจิ้มแจ่ว เหนื่อยมาก แต่ก็สนุกมาก ภาษาโปรตุเกสพี่ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง สื่อสารได้โดยไม่ใช้ล่าม เลยทำให้พี่สนุกกับงานมากขึ้นด้วย พี่ว่าการเป็นนักการทูตมันต้องครบเครื่อง ต้องทำงานสารัตถะเป็น งานพิธีการ งานกงสุล งานสารนิเทศก็ต้องได้หมด
Paralympics 2016
พี่ดูกีฬาไปน้ำตาไหลไป เพราะนักกีฬาพาราลิมปิกต้องใช้แรงกายและแรงใจเยอะมาก แต่เขายังสู้เพื่อนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศให้ได้ พอพี่เห็นความพยายามและความสามารถของนักกีฬาแล้ว ต้องย้อนกลับมามองตัวเองเลยว่าในขณะที่ร่างกายเราสมบูรณ์อยู่ เราเต็มที่กับสิ่งที่ทำอยู่มากน้อยแค่ไหน ยิ่งต้องเตือนตัวเองเสมอเลยว่าเราเกิดมาเราต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด
นักการทูตก็เริ่มเรียนรู้ภาษาจากศูนย์เหมือนกัน
ที่บอกว่าภาษาโปรตุเกสของพี่เริ่มเข้าที่เข้าทาง เพราะพี่เพิ่งมาเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสที่บราซิลนี่แหละ พี่เริ่มจากศูนย์จริง ๆ ไม่เคยเรียนภาษาที่มีหลายเพศมาก่อน และมีเวลาเรียนจริง ๆ แค่ 30 ชั่วโมง พี่ต้องเรียนไปทำงานไป ไม่เหมือนกับนักการทูตบางประเทศที่ได้เรียนภาษาก่อนแล้วจึงเริ่มทำงาน ดังนั้น วิธีฝึกภาษาของพี่คือ ต้องไม่อาย พูดได้พูดไป ต้องฝึกไปเรื่อย ๆ ท่องจำคำศัพท์ให้ได้เยอะ ๆ ไปซื้อของก็คุย ใครชวนคุยก็คุยไปเลย
วัฒนธรรม enrolado
พี่ตั้งชื่อเองว่า “enrolado ” (เอนโรลาโด แปลว่า เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ) คือ ชาวบราซิเลียนเขาเลื่อนนัดกันเป็นเรื่องปกติ เขารับนัดเรานะ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่พอถึงเวลาก็จะเลื่อนไปวันอื่นแทน แรก ๆ พี่ก็ยังปรับตัวไม่ทัน หลัง ๆ ก็รับมือด้วยการเป็นแบบเขาไปเลย (หัวเราะ) อย่างเวลาไปงานปาร์ตี้ จะต้องไปหลังเวลานัดประมาณ 15-30 นาที ไม่ควรไปก่อนเพราะเจ้าภาพอาจจะยังจัดสถานที่ไม่เรียบร้อย อันนี้หมายถึงนัดหมายกับเพื่อนทั่วไปนะ แต่หากเป็นหน่วยงานราชการก็นัดเวลาปกติได้
มุมมองเรื่องงานของคนบราซิล
ตั้งแต่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส–ต้นเดือนมีนาคมเป็นช่วง “ปิดประเทศ” ของบราซิล เพราะจะมีวันหยุดยาว และเป็นช่วงเทศกาลคาร์นิวัลที่ยิ่งใหญ่ของบราซิล ถือว่าเป็นช่วงพักผ่อนของชาวบราซิเลียนจริง ๆ การติดต่อหรือนัดหมายใครในช่วงนี้ทำได้ยากมาก คนบราซิลเขามีมุมมองว่าเราทำงานเพื่อใช้ชีวิต เน้นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และให้เวลากับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากกว่าเรื่องงาน เข้า-ออกงานตรงเวลา ถ้าทำงานเกินเวลางานก็ต้องมีค่าล่วงเวลา พี่ยังมีความเป็นเอเชียอยู่บ้างที่มองว่าเราต้องทุ่มเทกับงานเต็มที่ อยากทำอะไรก็ควรทำให้เต็มที่ เราจะได้พัฒนาความสามารถของเราต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทำงานเพื่อรอวันหยุด
อ่านบทความเรื่อง รีโอ คาร์นิวัล ความอลังการแห่งบราซิล ได้ที่ http://www.mfa.go.th/aspa/th/articles/9161/100499-
วิธีจัดการปัญหาในชีวิตของคนบราซิล
อีกเรื่องหนึ่งที่พี่ชอบคือ เวลาชาวบราซิเลียนมีปัญหาชีวิตหรือเรื่องไม่สบายใจ เขาจะไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งพี่เห็นด้วยมาก ๆ เพราะจิตแพทย์จะรับฟังปัญหาของเราอย่างเป็นกลาง และช่วยแนะนำวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง สำหรับประเทศไทย พี่ก็ดีใจนะที่สังคมเราเริ่มเปิดกว้างกับเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ได้ติดมุมมองแง่ลบต่อคนที่ไปปรึกษาจิตแพทย์เหมือนอย่างอดีต แม้หลายคนอาจจะยังสะดวกใจไปปรึกษาหมอดูมากกว่า (หัวเราะ)
ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องของการยอมรับความแตกต่าง
บราซิลเป็นประเทศต้น ๆ ที่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน เขาเปิดกว้างเรื่องนี้มาก อย่างนครเซาเปาลูก็เป็นเมืองที่มีสังคม LGBTQ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีการจัดงานพาเหรด LGBTQ ในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ที่ใหญ่ที่สุดเช่นกัน
ส่วนตัวพี่มองว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องของความหลากหลายมากกว่า ถ้าใครไม่ยอมรับอยู่ในใจแล้วไม่เดือดร้อนใครก็โอเค แต่คนที่แสดงออกก็อีกเรื่อง เราก็คงไปห้ามความคิดใครไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ แสดงให้เขาเห็นได้ว่าเรามีคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนมีคุณค่าและและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และควรมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันด้วย
การให้เกียรติกัน
คนเราก็ต้องให้เกียรติผู้อื่นเสมอไม่ว่าจะด้วยถ้อยคำหรือการกระทำ ยิ่งถ้าเป็นนักการทูตก็ต้องยิ่งระมัดระวังเรื่องนี้ เวลาพี่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศไหน หรือประจำการที่ประเทศไหน พี่จะต้องให้เกียรติเขาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมถึงเรื่องเคารพธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปด้วย เช่น เวลาไปงานเลี้ยงกับนักการทูตที่มาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เราจะไม่ดื่มเหล้าหรือไวน์ เพราะต้องให้เกียรตินักการทูตจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือบรูไน แม้บางครั้งจะดื่มได้บ้าง แต่เราก็พยายามจะไม่ดื่ม
ธรรมเนียมการมอบของขวัญ
เพราะเรามีงานพบปะสังสรรค์กับนักการทูตด้วยกันบ่อย เราก็ต้องรู้จักธรรมเนียมการมอบของขวัญให้กับเจ้าภาพที่เชิญเราไว้ด้วย ถ้าเจ้าภาพเป็นผู้ชาย เราก็ต้องนำไวน์ แชมเปญ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปมอบให้เขา หากเจ้าภาพเป็นผู้หญิงก็ต้องมอบช่อดอกไม้ แต่ถ้าเจ้าภาพเป็นชาวมุสลิม เราก็จะนำน้ำผลไม้ชุดใหญ่ไปมอบให้
สมดุลชีวิต คือ ของฝากจากบราซิล
สิ่งที่ได้รับกลับมาหลังจากประจำการอยู่ที่บราซิลมา 4 ปี คือ สมดุลชีวิตที่ดีขึ้น สมัยก่อนพี่เอางานกลับไปทำที่บ้าน วันเสาร์วันอาทิตย์ก็มาทำงาน ความจริงเราต้องยอมรับว่างานเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เพราะทำให้เรามีหลายอย่างทั้งชื่อเสียง อำนาจ เงินทอง ความก้าวหน้า แต่งานก็ไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต
พอเราได้เปิดมุมมองเรื่องการทำงาน และการใช้ชีวิตของคนบราซิล เราเห็นเลยว่าการสร้างสมดุลชีวิตที่ดีนั้นสำคัญมาก พี่ก็ยังคงเต็มที่กับงานเหมือนเดิม แต่พยายามเต็มที่แค่ในเวลางานเท่านั้น แล้วนำเวลาที่เหลือไปให้คนในครอบครัวและดูแลตัวเอง เพราะสุดท้ายการรักษาความสัมพันธ์กับคนรัก หรือคนในครอบครัว และการรักษาสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
* * * * *
อ่านข้อมูลรายประเทศบราซิลที่ https://aspa.mfa.go.th/th/country/BR?page=5e0ea3b47317c00ce15ab862&menu=5e0ea2894a9f9f071f093ab4
อ่านข้อมูลความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-บราซิลที่ https://aspa.mfa.go.th/th/content/77722-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A5?page=5e0dc1e53805f2240032d132&menu=5d82004ad083c20cf4603d6d
กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
วันทำการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)