โครงการศึกษาศักยภาพด้านการบินและอากาศยานของเม็กซิโก ณ รัฐโซโนรา

โครงการศึกษาศักยภาพด้านการบินและอากาศยานของเม็กซิโก ณ รัฐโซโนรา

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,501 view

     เมื่อวันที่ ๑ - ๒ ก.ค. ๒๕๖๒ นางสาวรมณี คณานุรักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก นำนายจาตุรนต์ จันระมาด ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (TP) ฝ่ายช่าง (DT) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายวงศ์พัทธ์ พันธ์เจริญ พนักงานกองเศรษฐกิจการบิน ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และนางสุดากร เทวกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครลอสแอนเจลิส เยือนเมือง Ciduad Obregón, Guaymas และ Hermosillo รัฐโซโนรา เม็กซิโก เพื่อศึกษาประสบการณ์และพัฒนาการอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของเม็กซิโก โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชน ประสบการณ์การดึงดูดให้บริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทให้บริการด้าน Maintenance, Repair and Overhaul (MRO) เข้ามาลงทุน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินในรัฐ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยในการนำความรู้ที่ได้จากการเยือนไปปรับใช้กับ การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ภายใต้นโยบาย ๔.๐ ของไทย และเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของไทยกับเม็กซิโก ภายใต้โครงการศึกษาศักยภาพด้านการบินและอากาศยานของเม็กซิโก ณ รัฐโซโนรา ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก   

     ในระหว่างการเยือน คณะได้ (๑) เข้าเยี่ยมคารวะนาย Jorge Vidal Ahumada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจรัฐโซโนรา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอากาศยานของรัฐ รวมถึง ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านอากาศยาน ระหว่างรัฐโซโนรากับรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ ภายใต้กรอบ Arizona-Sonora Megaregion (๒) หารือกับ Economic Promotion Council เมือง Ciudad Obregón (COPRECO) เพื่อศึกษากี่ยวกับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง MRO ที่นิคมอุตสาหกรรม Advanced Manufacturing Technology Industrial Park (PITAM) ซึ่งติดกับท่าอากาศยานนานาชาติของเมือง (๓) เยี่ยมชมบริษัทด้านอากาศยาน คือ QET Tech Aerospace (QTA) บริษัทเม็กซิโก ซึ่งลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินอยู่ที่เมือง Ciudad Obregón ให้บริการแก่ Original Equipment Manufacturer (OEM) ต่าง ๆ เช่น Bombardier, GE Aviation Services (GECAS) สายการบินผู้โดยสาร เช่น Aeromexico, Volaris สายการบินขนส่งสินค้า เช่น MSC Cargo รวมทั้ง Federal Police และ Air force ของเม็กซิโก และมีความสามารถในการซ่อมบำรุงระดับ C (medium-heavy maintenance) ๑ และ Paradigm Precision บริษัทสหรัฐฯ ซึ่งลงทุนผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เช่น turbine center frame อยู่ที่เมือง Guaymas เพื่อส่งต่อไปให้ OEM ในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ และ (๔) เยี่ยมชมสถาบันการศึกษาและศูนย์ฝึกอบรมด้านอากาศยาน คือ Technological University of Guaymas (UTG) เมือง Guaymas เปิดหลักสูตร bilingual ระดับช่างอากาศยานและปริญญาตรีและโทด้านอากาศยาน และมีโครงการให้นักศึกษาได้ประกอบเครื่องบินขนาด ๒ ที่นั่งทั้งลำด้วยตนเอง Advanced Technology Training Center (CEFTA) เมือง Guaymas เป็นศูนย์ฝึกอบรมแรงงานของบริษัทและนิคมอุตสาหกรรม Tetakawi โดยให้การฝึกอบรมแรงงานของบริษัทอากาศยานต่าง ๆ รวมทั้ง Paradigm Precision Sonora Institute for Aerospace & Advanced Manufacturing (SIAAM) เมือง Hermosillo เป็นศูนย์ฝึกอบรมแรงงานด้านอากาศยานของรัฐบาลโซโนรา โดยบริษัทอากาศยานที่เข้ามาลงทุนในโซโนราสามารถใช้บริการศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายTechnological Institute of Hermosillo (ITH) เมือง Hermosillo เปิดการเรียนการสอนด้านอากาศยาน เช่น aeronautics engineering และมีความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ เช่น Paradigm Precision, Latecoere (ผลิตประตู Boeing ๗๘๗) Ducommun (ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องบิน) Williams International (ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกอบรมโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียน และ Center for Technological Research and Innovation for the Aerospace Sector (CITISA) เมือง Hermosillo อยู่ภายใต้ ITH มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอากาศยานของทั้งรัฐ ในการออกแบบการผลิตในส่วนและส่วนประกอบ และระบบอากาศยานและอวกาศ   

     ในช่วงที่ ๒ ปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดโครงการศึกษาศักยภาพด้านอากาศยานที่รัฐต่าง ๆ ที่มีศักยภาพของเม็กซิโก คือ เกเรตาโร บาฮากาลิฟอร์เนีย รวมถึงโซโนราในครั้งนี้ และได้เรียนรู้ว่า (๑) การเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานในเม็กซิโกมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ North American Free Trade Agreement (NAFTA) โดย OEM ในสหรัฐฯ และแคนาดา ใช้ประโยชน์จาก NAFTA โดยการเข้ามาผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในเม็กซิโก ซึ่งค่าแรงราคาถูก และส่งออกไปประกอบต่อในประเทศของตน (๒) การลงทุนด้านอากาศยานในเม็กซิโกครอบคลุมชิ้นส่วนและกระบวนการทุกอย่างที่ทำให้เม็กซิโกผลิตเครื่องบินเองได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีรัฐ/บริษัทไหนในเม็กซิโกทำได้ โดยยังเน้นส่งออกไปให้ OEM อยู่ (๓) รัฐที่มีศักยภาพด้านอากาศยานในเม็กซิโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยจัดตั้ง Aerospace Cluster ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทอากาศยาน (OEM และ suppliers) ภาครัฐ และภาควิชาการ และทุกรัฐมีเป้าหมายทีจะผลิตเครื่องบินทั้งลำได้เองและส่งเสริมขีดความสามารถของบริษัทเม็กซิโก และ (๔) เม็กซิโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาและจัดสรรแรงงานให้แก่อุตสาหกรรมอากาศยานที่เข้ามาลงทุน โดยได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับ ปวส. และมหาวิทยาลัย รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางด้านอากาศยานขึ้นหลายแห่ง ไทยจึงสามารถเรียนรู้การจัดตั้ง Aerospace Cluster และแสวงหาความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าว จากเม็กซิโกต่อไปได้  

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ