บทบาท "ล่าม" ของนักการทูต

บทบาท "ล่าม" ของนักการทูต

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,437 view

“การเป็นนักการทูต ทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับหน้าที่ล่ามเสมอ ก็ควรจะศึกษา เรื่องอื่น ๆ ไว้ด้วย เพราะเราต้องทำได้ทุกอย่าง เราต้องพร้อมตลอดเวลา”

 บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของนักการทูตที่หลายคนคงทราบกันดี คือ “ล่าม” ผู้ถ่ายทอดเจตนารมณ์ของกลุ่มคนสองฝ่ายด้วยทักษะทางภาษา ที่จะช่วยให้การสื่อสารและการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น

          วันนี้กรมอเมริกาฯ พาผู้อ่านมารู้จักกับบทบาทล่ามประจำกรม ผ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณรัฏฐาธิป พรหมแก้ว นักการทูตปฏิบัติการ กองอเมริกาเหนือ รวมทั้งล่ามพิเศษในฐานะ ล่ามประจำกรมอเมริกาฯ     ที่ย้ำเลยว่าคนเป็นล่ามจะเก่งแค่ภาษาอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีอะไรมากกว่านี้ มาติดตามกัน...

 

53110492_2074353356189675_1355902475059593216_n

 

อธิบายบทบาทล่ามของนักการทูตให้ฟังหน่อย

ล่ามในกระทรวงการต่างประเทศมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ล่ามกระทรวง กับล่ามกรม ล่ามประจำกระทรวงเป็นตัวแทนจากแต่ละกรมที่ถูกคัดเลือกและได้รับการอบรมพิเศษเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ล่าม ซึ่งหากมีงานไหนที่กระทรวงฯ ต้องการใช้งานล่ามก็จะเรียกกลุ่มนี้ไปปฏิบัติงาน สำหรับพี่เป็นล่ามของกรม จะถูกเรียกไปทำหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายในส่วนของกรมเท่านั้น ยังไม่ต้องถึงขั้นผ่านการอบรมพิเศษ

 

เคยมีประสบการณ์เป็นล่ามมาก่อนไหม

          เคยครับ เคยเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสตอนเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส  ตอนนั้นสถานทูตขอให้นักเรียนที่เรียนอยู่ที่นั่นช่วยทำงานล่าม เพราะทางสถานทูตไม่มีล่ามประจำ พอเรียนจบมา พี่ก็ยังไม่เคยทำงานล่ามในฐานะข้าราชการ มาทำที่กรมอเมริกาฯ ที่แรก

 

เป็นล่ามตอนเรียนกับตอนทำงานต่างกันยังไง

ความท้าทายตอนเป็นนักเรียนคือ เนื้อหาที่เราจะแปลไม่ได้เจาะจงมาก และต้องพูดเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานด้วย ส่วนตอนทำงาน เราสามารถคาดเดาเนื้อหาหรือประเด็นได้มากกว่า แต่อาจต้องเป็นล่ามแปลให้กับผู้ที่มีตำแหน่งสูง ซึ่งการทำงานจะเหมือนประเมินตัวเราเองด้วย มีความเครียด ความกดดันมากกว่า

 

53472732_1944058569055014_8966979278310735872_n

 

งานล่ามครั้งล่าสุด

ล่าสุดได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามในการพบหารือระหว่างองคมนตรี (พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา) กับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย (H.E. Paul Robilliard) ที่มาอำลาในโอกาสพ้นหน้าที่ ตอนแรกนึกว่าเป็นวาระหารือกันทั่วไป แต่กลายเป็นว่าการหารือลงรายละเอียดเยอะมาก เพราะท่านองคมนตรีเคยดูแลเรื่องการต่อต้านยาเสพติดในช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และไทย-ออสเตรเลียก็มีความร่วมมือกันมาตลอด เราคิดว่าก็แค่อำลา แตะประเด็นผิว ๆ แต่ปรากฏว่าของจริงมีรายละเอียดเยอะมาก เหมือนกับอธิบายว่าระหว่างที่ท่านทูตอยู่ที่นี่ ท่านทำอะไรไปบ้าง ตอนนี้ถึงไหน แล้วต่อไปจะผลักดันยังไง ก็เลยรู้สึกว่าเป็นการอำลาที่ลงรายละเอียดเยอะดีนะ

 

เล่าบรรยากาศวันนั้นให้ฟังหน่อย

เป็นครั้งแรกที่ทำล่ามแล้วท่านองคมนตรีเรียกไปคุยก่อนว่าที่ผ่านมาเคยคุยกับท่านทูตออสเตรเลียไว้อย่างไรบ้าง เพื่อให้คุ้นประเด็นและมีเวลาเตรียมตัว จากนั้นพอถึงเวลาก็ไปในห้องหารือก็มีการทักทายและคุยในรายละเอียด ตอนแรกพี่คิดว่าต้องเป็นล่ามสองทาง คือจากไทยเป็นอังกฤษ และอังกฤษเป็นไทย แต่วันนั้นทางออสเตรเลียเขามีล่ามของเขา พี่ก็ทำหน้าที่แค่แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ วันนั้นหารือประมาณครึ่งชั่วโมง รวมเวลาเตรียมตัวก็ประมาณชั่วโมงหนึ่ง

 

ก่อนจะถึงหน้างานต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

พยายามเตรียมตัวให้ได้มากที่สุด ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โต๊ะ (ผู้ดูแลเรื่องนั้น) แล้วศึกษาข้อมูลให้ได้มากที่สุด สำนวนไหน คำไหนที่ไม่คุ้นเคย ต้องศึกษาเพิ่ม แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาเตรียมตัวมากนัก

 

53259915_2086158381421945_8666258054930497536_n

 

หลายคนมองว่างานล่ามเป็นงานยากมาก คุณคิดยังไง

ก็รู้สึกมาตลอดว่างานล่ามเป็นงานที่เครียด เป็นงานที่ไม่ได้มีแค่ความรู้อย่างเดียว ต้องใช้ไหวพริบเยอะ และเป็นทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์ การเป็นล่ามมีศาสตร์ในตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นศิลปะด้วย เพราะเป็นงานบริการ เราต้องช่วยให้คนสองฝ่ายเข้าใจกัน การเป็นงานบริการแปลว่าอะไร แปลว่าการตัดสินว่าเราทำได้ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับคนที่เราให้บริการ บางทีเราทำตามหลักการ แปลถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มากไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่เขาพูด แต่บางทีคนที่ให้เราแปลเขาก็ชอบให้เราแปลเพิ่มนิดหน่อย เพื่อให้ภาษามันดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น และบทสนทนารื่นหูกว่า แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน  เราแค่ต้องแปลให้ถูกต้องประทับใจเขาให้ได้

 

จุดที่ยากที่สุดของการเป็นล่าม

พี่ว่าภาษาและความรู้ไม่สำคัญเท่าไหวพริบ ต่อให้เรามีความรู้พื้นฐานเรื่องนั้น แต่หน้างานอาจมีอะไรเกิดขึ้นอีกมากมาย อาจมีคำที่เราไม่รู้ เราก็ต้องหาวิธีที่จะอธิบาย หรือส่งสารนั้นออกไปให้ถึงอีกฝ่ายให้ได้ อย่างตอนที่เป็นล่ามครั้งแรก พี่เจอคำที่ไม่รู้จริง ๆ คือ “แรงงานขัดหนี้” ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Debt Bondage แต่พี่ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้คำอื่น ๆ มาอธิบายให้ได้ความหมายในเชิงเดียวกันไปแทน

 

เอกลักษณ์งานล่ามของกระทรวงการต่างประเทศคืออะไร

พี่คิดว่าการเป็นล่ามของกระทรวงฯ พิเศษกว่าการทำหน้าที่ล่ามทั่วไปตรงที่เราสวมบทบาทของการเป็นข้าราชการกระทรวงฯ ด้วย ในบางประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราจะแปลอย่างไรให้ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางประเด็นที่เป็นเรื่องร้อน (hot issue) อาจต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้คำที่อาจทำให้ผู้รับฟังตีความหมายคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างที่บอกไป

 

53652982_242862766660559_2163186026959339520_n

 

ทักษะสำคัญของงานล่ามคืออะไร

ต้อง multitasking ให้ได้ พี่เป็นคนที่ไม่ชอบการทำงานแบบ multitasking นะ แต่พอมาเป็นล่ามแล้วเราต้องทำให้ได้ บางคนพูดทีละประโยคแล้วให้เราแปล เราก็จะพยายามแปลให้ได้ตรงที่สุด แต่บางคนพูดไปห้านาทีแล้วถึงหยุดให้แปล คนเป็นล่ามก็ต้องฟังไปด้วย คิดไปด้วย เขียนสรุปไปด้วย ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญต้องรับสภาพกดดันและความเครียดให้ได้

 

ประโยคที่ใช้กระตุ้นตัวเองขณะเป็นล่าม

“จะต้องรอด! จะปล่อยไปไม่ได้” เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่า ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เราก็จะรู้สึกกังวลและไม่มีสมาธิ ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องส่งสารนั้นออกไปให้ได้ ต้องท่องไว้เสมอว่านี่เป็นทั้งชื่อเสียงตัวเอง ชื่อเสียงกระทรวง ชื่อเสียงประเทศชาติที่เราแบกรับ ไว้อยู่ เพราะฉะนั้น จะต้องรอด!

 

มุมมองที่ได้จากงานล่าม

สุดท้ายการเป็นล่ามมันกลับมาสอนตัวเราว่า เราต้องขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราทำหรือเรื่องที่เราสนใจเท่านั้น การเป็นนักการทูต ทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับหน้าที่ล่ามเสมอ ก็ควรจะศึกษา เรื่องอื่น ๆ ไว้ด้วย เพราะเราต้องทำได้ทุกอย่าง เราต้องพร้อมตลอดเวลา

 

53499915_328454811114654_873662258574524416_n

 

ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นล่าม

แนะนำให้ลองไปสังเกตคนที่เป็นล่ามมืออาชีพว่าเขามีวิธีการพูดอย่างไร เช่น ถ่วงจังหวะให้มีเวลาคิดมากขึ้น พูดให้ช้าลงอย่างไรให้สารที่ส่งไปชัดเจนโดยไม่รู้สึกขาดตอน ส่วนใครอยากจะเริ่มงานสายนี้ ควรเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อน งานล่ามมีหลายระดับ หลายสาขา เราก็ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือต้องหาโอกาสแรกของตัวเองให้ได้ก่อน แล้วที่เหลือจะตามมา

 

บอกอะไรเกี่ยวกับงานล่ามหน่อย

งานล่ามต้องลองทำสักครั้ง ถึงจะรู้ว่าการเป็นล่ามไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าได้ลองทำแล้วจะรู้ว่าเราทำได้ แต่สำหรับครั้งต่อ ๆ ไป ก็ยังคงตื่นเต้นเหมือนเดิมนะ แต่ความมั่นใจเพิ่มขึ้นกว่าเดิมแน่นอน