พัฒนาการทางการเมืองภายในเปรูภายหลังรัฐสภาเปรูผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดีเปรู

พัฒนาการทางการเมืองภายในเปรูภายหลังรัฐสภาเปรูผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดีเปรู

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,807 view

    เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภาเปรูผ่านญัตติถอดถอนนาย Martin Vizcarra ประธานาธิบดีเปรูด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 105 เสียง ต่อ 19 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ด้วยเหตุผลว่านาย Vizcarra มี “ความบกพร่องทางศีลธรรม” (moral incapacity) และทุจริตโดยการรับเงินจำนวน 2.3 ล้านโซเลส หรือราว 657,000 ดอลลาร์สหรัฐจากโครงการก่อสร้างให้แก่ภาคเอกชน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด Moquegua ทางใต้ของเปรูในช่วงระหว่างปี 2554 - 2557 ซึ่งที่ผ่านมา นาย Vizcarra ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยภายหลังที่รัฐสภาเปรูได้ผ่านญัตติ นาย Vizcarra ได้ประกาศลาออกพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งชุด

 

_100548739_d573e392-4416-4bf2-9ab3-cc80f69807f3

นาย Martin Vizcarra ประธานาธิบดีเปรู โดนญัตติโหวตถอดถอนจากรัฐสภาด้วยเหตุผล “ความบกพร่องทางศีลธรรม” และคดีทุจริต // ที่มาของรูป : EPA

 

    ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 นาย Manuel Merino ประธานรัฐสภาได้ประกอบพิธีสาบานตนเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ ตามที่รัฐธรรมนูญเปรูกำหนดไว้ว่า ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี ในกรณีที่ตำแหน่งรองประธานาธิบดีว่างอยู่

 

_115511417_hi064358036

นาย Manuel Merino ประธานรัฐสภาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการเปรูแทนนาย Martin Vizcarra อดีตประธานาธิบดีเปรูที่โดนถอดถอนจากรัฐสภา // ที่มาของรูป : REUTERS

 

    ตลอด 6 วันของการบริหารราชการของนาย Merino เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงลิมาต่อการถอดถอนของ นาย Vizcarra และประณามการกระทำของรัฐสภาฯ ว่าเป็นการรัฐประหารของรัฐสภา รวมทั้งเรียกร้องให้นาย Merino ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ส่งผลให้เยาชนชาวเปรู 2 รายเสียชีวิตจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 นาย Merino ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ และรัฐสภาเปรูจึงได้เลือกนาย Francisco Sagasti ผู้แทนพรรคที่ได้ลงคะแนนเสียงคัดค้านญัตติถอดถอนประธานาธิบดีมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่สืบแทน และจะต้องดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการต่อไปจนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปในเปรูในเดือนเมษายน 2564

 

_115541262_sagasti

นาย Francisco Sagasti ผู้แทนพรรคดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานาธิบดีรักษาการเปรูคนใหม่หลังนาย Manuel Merino ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการเปรู // ที่มาของรูป : REUTERS

 

    สหประชาชาติได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในเปรู โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่องค์กรรัฐอเมริกัน (OAS) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเปรูเป็นผู้พิจารณาความชอบธรรมต่อการตัดสินใจของรัฐสภาเปรูในการถอดถอดประธานาธิบดีในครั้งนี้  

 

_115362388_gettyimages-1229566999

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในกรุงลิมาต่อการถอดถอนของ นาย Vizcarra และประณามการกระทำของรัฐสภาฯ ว่าเป็นการรัฐประหารของรัฐสภา // ที่มาของรูป : GETTY IMAGES  

 

    อนึ่ง แม้ภายใต้บริบทของโควิด-19 และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ นาย Vizcarra ยังคงเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงจากประชาชนนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2561 เนื่องมาจากความพยายามในการปฏิรูประบบการเมืองและกระบวนการยุติธรรม การต่อต้านการทุจริต โดยผลสำรวจล่าสุด ประชาชนเปรูร้อยละ 78 ไม่สนับสนุนการถอดถอนนาย Vizcarra ร้อยละ 60 ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของรัฐสภา และร้อยละ 62 ไม่สนับสนุนนาย Merino โดยเกรงว่าอาจใช้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดสูงในเปรูเป็นข้ออ้างที่จะเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปออกไป

********************

 

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

18 พฤศจิกายน 2563

 

ที่มาของรูปหน้าปก : GETTY IMAGES