การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลี (2020)

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลี (2020)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,646 view

      เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ชิลีได้จัดการลงประชามติเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อพิจารณาในประเด็น (1) ความต้องการของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ (2) ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน (กำหนดให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้ชายและผู้หญิงอย่างละครึ่ง) หรือโดยคณะกรรมการผสมระหว่างกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งกับสมาชิกสภาคองเกรสอย่างละครึ่ง โดยการลงประชามติดังกล่าวมีผู้มาใช้สิทธิในประเทศประมาณ 7.5 ล้านคนหรือร้อยละ 50.9 ของผู้มีสิทธิในประเทศทั้งหมด และในต่างประเทศจำนวน 30,912 คน

 

3396_(1)

ชาวชิลีต่อแถวหน้าคูหาเพื่อรอโหวตลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ณ กรุงซันติอาโก  // ที่มาของรูป : Javier Torres/AFP/Getty Images

 

      ผลการลงประชามติ คือ ชาวชิลีร้อยละ 78 ประสงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่จะเอื้อต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมนับเป็นสาเหตุหลักของการประท้วงในชิลีตั้งแต่ปี 2562 โดยการรณรงค์หาเสียงของกลุ่มสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงจำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มคนที่ลงคะแนนไม่สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่เป็นกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับสูง ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาพื้นฐานความแตกต่างทางอุดมการณ์ด้านการเมืองและสังคมที่แบ่งแยกตามชนชั้นทางเศรษฐกิจ

 

chile-protest-2019

ผู้ชุมนุมรวมกลุ่มกันประท้วงที่ลาน Baquedano Square ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนตุลาคม 2562 // ที่มาของรูป : Muhammed Emin Canik—Anadolu Agency/Getty Images

 

      ผลการลงประชามติดังกล่าวได้ช่วยให้สถานการณ์การเมืองของชิลีมีความมั่นคงมากขึ้นนับตั้งแต่มีการประท้วงและความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2562 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งจากภายในและนอกประเทศ ทั้งนี้ ชิลีจะจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 เมษายน 2564 โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการร่างขึ้นใหม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ 2 ใน 3 หรือ 103 เสียง ก่อนที่จะเสนอให้ประชาชนลงประชามติพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ให้ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

*********************************************

กองลาตินอเมริกา

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

พฤศจิกายน 2563

 

ที่มาของรูปภาพหน้าปก : Javier Torres/AFP/Getty Images

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ