พัฒนาการการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการรักษาโรคโควิด-19 ในบราซิล

พัฒนาการการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการรักษาโรคโควิด-19 ในบราซิล

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,704 view

      ปัจจุบันสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในบราซิลยังคงเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ขณะที่บราซิลมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมากกว่า 5.2 ล้านราย มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และอินเดีย และมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 2 แสนคน มากเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ

 

thumbs_b_c_00812766a1081a4749b7ad22bc1deebc

บราซิลมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมากกว่า 5.2 ล้านราย  และมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 2 แสนคน มากเป็นอันดับสองของโลก // ที่มาของรูป : Anadolu Agency

 

      คณะนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Federal University of Mato Grosso (UFMT) พบการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนสู่สัตว์เป็นครั้งแรกในบราซิล โดยพบแมวอายุเพียงไม่กี่เดือนจากเมือง Cuiabá เมืองหลวงของรัฐ Mato Grosso ติดเชื้อจากการสัมผัสกับเจ้าของซึ่งทั้งครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 และได้เตือนชาวบราซิลที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกตัวออกจากสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ UFMT กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อจากสัตว์ไปสู่คน และจากสัตว์ไปสู่สัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่

 

      มูลนิธิ Oswaldo Cruz (Fiocruz) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของรัฐ ได้เริ่มการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของวัคซีน Bacillus Calmette-Guerin (BCG) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรค หลังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยนักวิจัยได้ทำการทดลองทางคลินิคระยะที่สามกับอาสาสมัคร 2,000 คน ในเมือง Campo Grande ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ Mato Grosso do Sul และ 1,000 คน ในนครรีโอเดจาเนโร และมีเป้าหมายที่จะทดลองฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการลดผลกระทบของโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่สัมผัสกับเชื้อไวรัสมากที่สุด

 

Castelo_fiocruz_panoramico

มูลนิธิ Oswaldo Cruz (Fiocruz) ศูนย์วิจัยของรัฐ กำลังเริ่มการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยใช้วัคซีนป้องกันวัณโรคเป็นต้นแบบ // ที่มาของรูป : Institut Pasteur

 

      สถาบัน Butantan ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางชีวเภสัชศาสตร์ในนครเซาเปาลู ได้ดำเนินการการทดลองทางคลินิกระยะที่สาม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน Coronavac ซึ่งผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ของจีน และพบว่าวัคซีนดังกล่าวที่ฉีดให้กับอาสาสมัครจำนวน 9,000 คน มีความปลอดภัยและช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ และจะทดสอบกับอาสาสมัครให้ครบจำนวน 15,000 คน เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวในการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยหากผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในช่วงปลายปีนี้ ก็จะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชากรในนครเซาเปาลูได้ภายในต้นปีหน้า

 

c1_3697903

วัคซีน Coronavac ซึ่งผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ของจีน ที่ได้รับการทดสอบประสิทธิภาพในบราซิล // ที่มาของรูป : Bangkok Post

 

      สนข. The Brazilian Report รายงานว่า มีผู้เข้าร่วมทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ของ ม. Oxford และ บ. AstraZeneca ในบราซิลเสียชีวิต โดย National Health Surveillance Agency (ANVISA) เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมรายดังกล่าวเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2563 แต่ ANVISA เพิ่งได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ขณะที่ สนข. Bloomberg และ Globo อ้างว่ามีแหล่งข้อมูลที่ยืนยันว่า ชายผู้เสียชีวิตจัดอยู่ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ได้รับยาชนิดอื่น (placebo) เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน โดยการเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนเมื่อเทียบกับยาตัวอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนต้านโควิด-19 ของ ม. Oxford อย่างไรก็ดี ม. Oxford ได้แถลงว่า ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบแล้วและไม่พบข้อห่วงกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าว รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจาก ANVISA ให้ดำเนินการทดสอบในบราซิลต่อไปได้

********************

 

ที่มาของรูปหน้าปกบทความ : REUTERS 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ