ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของชิลี

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของชิลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,317 view

    เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ชิลีได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน ๑๕๕ ที่นั่งที่มาจากภาคประชาชนทั้งหมด โดยเป็นเพศชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากันและมีโควตาเฉพาะสำหรับกลุ่มชนพื้นเมืองด้วย ซึ่งผู้สมัครอิสระและพรรคฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดต่อต้านระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ของพรรครัฐบาลปัจจุบันได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นโดยมีที่นั่งใน สสร. สูงเกือบกึ่งหนึ่งของ สสร. ทั้งหมด ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายขวาหรือขวา-กลาง ตลอดจนพรรคฝ่ายขวา และพรรคฝ่ายซ้ายกลางซึ่งถือเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองเก่าได้ที่นั่งรองลงมาในจำนวนที่น้อยกว่ามาก

 

2021-05-15T184644Z_66943928_RC2CGN9J4PHI_RTRMADP_3_CHILE-POLITICS

ชิลีได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากภาคประชาชนทั้งหมด โดยเป็นเพศชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากันและมีโควตาเฉพาะสำหรับกลุ่มชนพื้นเมืองสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ // ที่มาของภาพ : Rodrigo Garrido/Reuters  

 

    ชัยชนะดังกล่าวแสดงถึงการที่ชาวชิลีส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนโครงสร้างทางอำนาจและกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองในปัจจุบัน โดยหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้างด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของชิลีที่สั่งสมมากว่า ๓๐ ปี โดยเฉพาะการส่งเสริมรัฐสวัสดิการ การลดอำนาจประธานาธิบดี และการจัดการให้ระบบเศรษฐกิจเอื้อประโยชน์และเป็นธรรมกับประชาชนทุกฝ่ายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ เนื่องจากการเลือกตั้ง สสร. ในครั้งนี้ พรรครัฐบาลและพันธมิตรฝ่ายขวาได้รับเลือกเพียง ๑ ใน ๓ ของจำนวน สสร. ทั้งหมด  โดยขณะนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มลดลงเนื่องจากเกรงว่านโยบายเปิดเสรีทางการเศรษฐกิจของชิลีจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางการบริหารประเทศของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย อาทิ การเพิ่มกฎระเบียบต่าง ๆ การปรับโครงสร้างภาษี การเพิ่มบทบาทของรัฐวิสาหกิจ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังคงสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนในสาขาเหมืองแร่ พลังงานทดแทน ไฮโดรเจนสีเขียว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำก็ตาม

 

    อนึ่ง สสร. มีระยะเวลา ๙ เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และขยายระยะเวลาได้อีก ๓ เดือนก่อนเสนอให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่งภายใน ๖๐ วันหลังจากที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นว่าจะรับหรือไม่รับร่างดังกล่าวซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สสร. ๒ ใน ๓ (๑๐๓ เสียง) โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๕ ทั้งนี้ ในกรณีที่ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ยกร่างในสมัยนายพล Pinochet ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

**************

กองลาตินอเมริกา
๗ มิถุนายน ๒๕๖๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ