การอภิปรายระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ (Presidential Debate) ครั้งสุดท้าย

การอภิปรายระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ (Presidential Debate) ครั้งสุดท้าย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,532 view

      เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 (เวลา ปทท.) ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตรอง ปธน. โจ ไบเดน ได้เข้าร่วม Presidential Debate ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ณ Belmont University รัฐเทนเนสซี โดยในครั้งนี้ผู้จัดได้ควบคุม การอภิปรายด้วยการเปิดและปิดไมโครโฟนของผู้สมัครแต่ละคน เพื่อแก้ปัญหาการพูดขัดจังหวะที่เกิดขึ้นใน Presidential Debate ครั้งแรก ทำให้ในภาพรวมการอภิปรายราบรื่นขึ้น การอภิปรายแบ่งเป็น 6 หัวข้อ ช่วงละ 15 นาที ได้แก่ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 นโยบายความมั่นคง นโยบาย ศก. นโยบายผู้อพยพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะผู้นำ

 

_115039871_biden_trump_12_index

ปธน. สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝั่งพรรครีพับลิกัน // ที่มาของรูป : REUTERS

 

_115039794_biden_trump_8_index

อดีตรอง ปธน. สหรัฐฯ โจ ไบเดน ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝั่งพรรคเดโมแครต // ที่มาของรูป : REUTERS

 

      โควิด-19 เป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันสนใจมากที่สุด ซึ่ง ปธน. ทรัมป์ พยายามชี้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั่วโลกและ รบ. ของตนสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดี โดยให้ความสำคัญกับการที่ ศก. ต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมยกกรณี การติดเชื้อโควิด-19 ของตนว่า ขณะนี้หายจากโรคและมีภูมิคุ้มกันแล้วเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยาและการรักษา ของสหรัฐฯ รวมทั้งย้ำว่าการพัฒนาวัคซีนน่าจะสำเร็จภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่อดีตรอง ปธน. ไบเดนวิจารณ์ว่า ปธน. ทรัมป์ ล่าช้าในการตอบสนอง ประเมินความรุนแรงของโควิด-19 ผิดพลาด และรับมือกับโควิด-19 อย่างไม่เป็นระบบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ แล้วกว่า 220,000 ราย และอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 200,000 รายก่อนสิ้นปี 2563

 

      ความมั่นคงและการ ตปท. (1) กรณีข่าวว่าจีน รัสเซีย และอิหร่านพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ อดีตรอง ปธน. ไบเดน กล่าวว่า หากตนเป็น ปธน. จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับหน่วยงานหรือ รบ. ตปท. ที่แทรกแซงการเลือกตั้ง เนื่องจากกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และกล่าวโจมตี ปธน. ทรัมป์ ที่ไม่ดำเนินมาตรการลงโทษ รบ. ปท. ดังกล่าว ในขณะที่ ปธน. ทรัมป์ กล่าวว่าทราบเรื่องดังกล่าวดี โดยกลุ่มที่แทรกแซงการเลือกตั้งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนและพยายามไม่ให้ตนชนะการเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย (2) นโยบายต่อจีน อดีตรอง ปธน. ไบเดน กล่าวว่า จะร่วมมือกับ ปชค. รปท. ทำให้จีนปฏิบัติตามกฎระเบียบ รปท. ส่วน ปธน. ทรัมป์ กล่าวว่า ตนได้ทำให้การค้าสหรัฐฯ –จีน เป็นธรรมมากขึ้น และสร้างรายได้มหาศาลให้เกษตรกรชาวอเมริกัน (3) ประเด็น กลน. อดีตรอง ปธน. ไบเดน โจมตี ปธน. ทรัมป์ ที่ให้ความชอบธรรมกับ กลน. แทนการกดดันให้ยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยตนจะยอมพบกับผู้นำ กลน. ภายใต้ เงื่อนไขว่าผู้นำ กลน. ต้องตกลงยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ ปธน. ทรัมป์ กล่าวว่า ตนมี คสพ. ที่ดีกับผู้นำ กลน. และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสงครามในคาบสมุทรเกาหลี

 

      นโยบาย ศก. และ สธ. อดีตรอง ปธน. ไบเดน กล่าวว่า การประกันสุขภาพควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของ ทุกคน พร้อมชูนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ ชม. ส่วน ปธน. ทรัมป์ กล่าวว่าระบบประกันสุขภาพของ รบ. ตนมีคุณภาพมากกว่า และจะให้สิทธิประกันสุขภาพแก่ผู้มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว พร้อมทั้งจะพิจารณา การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องไม่กระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย

 

      นโยบายผู้อพยพ อดีตรอง ปธน. ไบเดน โจมตีนโยบายของ ปธน. ทรัมป์ ว่าเป็นการพรากครอบครัว และ ทำให้เด็กจำนวนมากต้องอยู่ในสถานดูแล ส่วน ปธน. ทรัมป์ ชูนโยบายการสร้างแนวชายแดนที่มั่นคง โดยกล่าวว่า กลุ่มอาชญากรรมจำนวนมากใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ อย่างผิด กม. และเด็กที่อยู่ในสถานดูแล มีความเป็นอยู่ที่ดีและ รบ. กำลังพยายามอย่างหนักที่จะส่งเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว

 

      การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้สมัครทั้งสองแสดงจุดยืนที่ต่างกันชัดเจน โดย ปธน. ทรัมป์ ย้ำว่า ตนต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีแต่ Paris Agreement จะส่งผลเสียต่อ ศก. สหรัฐฯ รวมทั้งมหาอำนาจอื่น ๆ เช่น จีน รัสเซีย ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด โดยได้โจมตีอดีตรอง ปธน. ไบเดนว่าหากได้รับเลือกตั้งจะทำลายอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ ในขณะที่อดีตรอง ปธน. ไบเดน กล่าวถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและเคมีภัณฑ์ที่สร้างมลภาวะและเป็นภัยต่อสุขภาพของชาวอเมริกัน พร้อมกล่าวว่าจะให้การสนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดซึ่งจะสร้างงานและช่วยพัฒนา ศก.สหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ได้กล่าวว่า จะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วม Paris Agreement อีกครั้ง และจะดำเนินการให้มหาอำนาจอื่น ๆ ปฏิบัติตามข้อตกลง 

 

23321809972_fa11b54669_o

ปธน. ทรัมป์ มองว่า Paris Agreement จะส่งผลเสียต่อ ศก. สหรัฐฯ และ ปท. มหาอำนาจอื่น ๆ ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง แต่อดีตรอง ปธน. ไบเดน สนับสนุน Paris Agreement ผลักดันให้มีการใช้พลังงานสะอาด ช่วยสร้างงานกับพัฒนา ศก. สหรัฐฯ // ที่มาของรูป : Flickr

 

      ภาวะผู้นำและผลงานในฐานะ ปธน. ในการตอบคำถามถึงสิ่งที่ต้องการกล่าวต่อชาวอเมริกันทั้งกลุ่มที่เลือกและไม่ได้เลือกตนเอง ปธน. ทรัมป์ มุ่งนำเสนอนโยบาย ศก. การลดภาษี การสร้างงาน และกล่าวว่า หากอดีตรอง ปธน. ไบเดน ได้รับเลือก ศก. สหรัฐฯ จะย่ำแย่อย่างที่สุด ในขณะที่อดีตรอง ปธน. ไบเดน กล่าวว่า ตนจะเป็น ปธน. สำหรับ ทุกคนทั้งที่เลือกและไม่ได้เลือกตน โดยจะรับฟังเสียงของทุกฝ่าย เชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และคำแนะนำ ของผู้เชี่ยวชาญ และจะเป็นผู้นำที่สร้างความหวังมากกว่าความกลัว

 

      ผลการสำรวจของ CNN ภายหลังการอภิปรายระบุว่า ผู้รับชมร้อยละ 53 เห็นว่า อดีตรอง ปธน. ไบเดนทำได้ดีกว่า และร้อยละ 39 เห็นว่า ปธน. ทรัมป์ ทำได้ดีกว่า ทั้งนี้ ผลการสำรวจคะแนนนิยมโดยเฉลี่ย (สถานะวันที่ 23 ต.ค. 2563) ระบุว่า อดีตรอง ปธน. ไบเดนมีคะแนนนำร้อยละ 52.1 ต่อ 42.2 นอกจากนี้ อดีตรอง ปธน. ไบเดน ยังมีคะแนนนิยมนำในรัฐที่มีการแข่งขันสูง อาทิ ฟลอริดา มิชิแกน เนวาดา แอริโซนา และวิสคอนซิน โดยรัฐที่ยังไม่สามารถบ่งชี้ ผู้มีคะแนนนำได้ชัดเจน และคาดว่าจะมีการหาเสียงกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ โอไฮโอ และนอร์ทแคโรไลนา

********************

 

ที่มาของรูปหน้าปก : REUTERS

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ