ไทย - สหรัฐอเมริกา

ไทย - สหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 21,750 view

ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่

1. ความมั่นคงและการทหาร – ไทยและสหรัฐฯ มีโครงการฝึกร่วมทางทหาร Cobra Gold ที่จัดมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2525 และถือเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เริ่มต้นจากการฝึกร่วมในระดับทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตเป็นการฝึกร่วมนานาชาติที่ไทยและสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วม และปรับปรุงแนวทางการฝึกอบรมให้สนองตอบต่อประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ภายใต้สถานการณ์โลกในปัจจุบันมากขึ้น โดยผนวกรวมการฝึกปฏิบัติการทางทหารที่นอกเหนือจากการทำสงคราม (Military Operation Other Than War) ตามแนวทางสหประชาชาติไว้ด้วย เช่น การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติและอื่น ๆ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief - HADR)  

 

2.  เศรษฐกิจและการค้าการลงทุน - สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่สามของไทย (รองจากจีนและญี่ปุ่น) มูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2559 คิดเป็นกว่า 36.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นผู้ลงทุนต่างชาติใหญ่เป็นลำดับสองของไทย (รองจากญี่ปุ่น) ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่ากว่า 24.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่ากว่า 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ สินค้าประเภททุน (เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล เครื่องยนต์) สินค้าสำหรับอุตสาหกรรม (ยาง ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ พลาสติก) และสินค้าบริการ (สิทธิทางปัญญา) ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ในปี 2559 ไทยได้ดุลการค้า 12.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หมายเหตุ: ข้อมูลสถิติดุลการค้าระหว่างฐานข้อมูลของไทยที่ประมวลโดยกระทรวงพาณิชย์ ไม่ตรงกับข้อมูลของสหรัฐฯ ใน Census Bureau ซึ่งระบุว่าสหรัฐฯ เสียดุลการค้าไทย 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

3. ความสัมพันธ์กับภาคเอกชนสหรัฐฯ

ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและข้อห่วงกังวลของบริษัทของสหรัฐฯ เห็นได้จากช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 คณะนักธุรกิจจาก USABC กว่า 80 คน เยือนไทยและมีโอกาสได้พบกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ซึ่งนักธุรกิจส่วนใหญ่แสดงความเชื่อมั่นต่อไทยและต้องการเพิ่มมูลค่าการลงทุนในประเทศไทย

ในปี 2558 คณะนักธุรกิจ USABC ได้เยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 – 7 สิงหาคม 2558 ประกอบด้วยบริษัทสหรัฐฯ 29 บริษัท และผู้บริหารและนักธุรกิจสหรัฐฯ จำนวน 72 คน โดยคณะนักธุรกิจฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะผู้บริหารระดับสูงของไทย ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรี (2) รองนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล) (3) รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม (4) รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (5) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (6) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (7) ทีปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ (8) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกิจกรรมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดย USABC ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างการเข้าร่วมประชุม UNGA70 ด้วย

ในปี 2559 นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกิจกรรมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดย USABC และสภาหอการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างการเข้าร่วมประชุม Nuclear Security Summit ครั้งที่ 4  และคณะนักธุรกิจจาก 26 บริษัทของ USABC เยือนไทย ระหว่างวันที่ 21- 22 กรกฎาคม 2559 โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง 

 

4. ความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี – ไทยและสหรัฐฯ ได้ลงนามความตกลง Science and Technology Agreement (STA) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 และได้จัดตั้งกรอบการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-สหรัฐฯ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Joint Commission Meeting on Science and Technology หรือ JCM) เพื่อเป็นกลไกหารือในการผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics – STEM หรือสะเต็มศึกษา)
และสิ่งแวดล้อม และมีการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยและสหรัฐฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้สะเต็มศึกษาในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสู่ประชาชน และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านสะเต็มศึกษา (STEM Regional Workshop) เมื่อวันที่ 19 – 22 ตุลาคม 2559  

5. ความร่วมมือด้านสาธารณสุข – เป็นประเด็นที่ไทยมีศักยภาพสูงและรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญในระดับต้น โดยทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือกันมายาวนาน อาทิ ความร่วมมือผ่านศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (Thailand MOPH - U.S. CDC Collaboration) ที่ดำเนินการมา35 ปี  และการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านเชื้อเอชไอวีและมาลาเรียระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยวิจัยและการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (US Army Medical Component of the Armed Forces Research Institute of the Medical Sciences (USAMC-AFRIMS)

ในปี 2558 ไทยได้ดำเนินความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพิ่มเติมกับฝ่ายสหรัฐฯ ในกรอบความร่วมมือใหม่ ๆ อาทิ ความร่วมมือในกรอบ Global Health Security Agenda (GHSA) ของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GHSA ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหัวข้อ “Step towards Regional Strategic Collaboration in Asia-Pacific on Workforce Development, National Laboratory System Strengthening & Antimicrobial Resistance Prevention to Respond Global Challenges" เมื่อวันที่ 6 – 8 พฤษภาคม 2558 และย้ำท่าทีและความพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้กรอบ GHSA ของสหรัฐฯ และเป็นผู้มีบทบาทนำ (leading country) ใน 2 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข (Workforce Development) และการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขระดับประเทศ (National Laboratory System Strengthening)

นอกจากนี้ ไทยและสหรัฐฯ มีความร่วมมือไตรภาคีด้านสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว และเมียนมา ในการป้องกันโรคมาลาเรียตามแนวชายแดน และทั้งสองฝ่ายประสงค์ที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงสาธารณสุขการแพทย์ทหารกับการให้ความช่วยเหลือไตรภาคี และจากการหารือยุทธศาสตร์ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ไทยและสหรัฐฯ เห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีสำหรับหน่วยงานด้านสาธารณสุขไทย-สหรัฐฯ  

6. ความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและระหว่างประเทศ

       (1) กรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative – LMI) ไทยและสหรัฐฯ ดำเนินความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ซึ่งเป็นกรอบที่ไทยมีศักยภาพและผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐฯ ในเกือบทุกสาขาความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นคาบเกี่ยวในภูมิภาค อาทิ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและน้ำ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทสตรี โดยไทยเป็น Co-Lead ในสาขาการศึกษาและความมั่นคงทางพลังงาน โดยเมื่อเดือนสิงหาคม2558 ได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการ LMI ฉบับใหม่ประจำปี ค.ศ. 2016-2020 ที่เน้นเรื่องประเด็นคาบเกี่ยว (Nexus) ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและน้ำ และสตรี ซึ่งในการประชุม LMI Regional Working Group เมื่อ 15-16 ธันวาคม 2558 ไทยได้เสนอร่างเอกสาร “Future Direction for LMI” และได้เสนอโครงการ Women Entrepreneurship และ LMI University Network เพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในสาขาการศึกษา สาธารณสุข และความเชื่อมโยง  ทั้งนี้ จากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส LMI ครั้งล่าสุดที่เวียงจันทน์ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2559  ไทยและสหรัฐฯ ได้เห็นพ้องที่จะเดินหน้าหารือเพื่อให้มีโครงการความร่วมมือในสาขาการศึกษา โดยเฉพาะสาขาสะเต็มศึกษาในโครงการ Young Scientist Program และ University Network อย่างเป็นรูปธรรม และในการประชุม Regional Working Group ที่กรุงพนมเปญในเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้เริ่มโครงการ LMI Young Scientist Program และ LMI University Network โดยการประชุม Networking Session for LMI Young Scientist Program มีขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2560 ที่กรุงเทพฯ

      (2) กรอบ ASEAN ไทยและสหรัฐฯ มีความร่วมมือที่มีผลประโยชน์และเห็นพ้องกันในกรอบอาเซียน ซึ่งผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่ Sunnylands มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่าง 15-16 กุมภาพันธ์ 2559 ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ-อาเซียน มีทิศทางการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น และมีประเด็นความสนใจร่วม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนการป้องกันภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การปราบปรามการค้ามนุษย์และสัตว์ป่า การต่อต้านการก่อการร้ายการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจเกิดใหม่ (startups) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมที่ Sunnylands สหรัฐฯ มีเป้าหมายจัดตั้งศูนย์ ASEAN Connect ที่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็น 1 ใน 3 ศูนย์ ประจำภูมิภาคอาเซียน (อีกสองศูนย์ตั้งขึ้นที่กรุงจาการ์ตา และสิงคโปร์) เพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่ทำงานด้านอาเซียน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจการค้าภายในอาเซียน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีโครงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อาทิ Young South East Asia Leadership Initiative (YSEALI)  และการสนับสนุนกิจกรรมจากงบประมาณขององค์กรเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ (USAID) ในสาขาต่าง ๆ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข  สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

       (3) ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพของกองกำลังรักษาสันติภาพทั่วโลก และไทยสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพภายใต้กรอบสหประชาชาติ โดยเมื่อปี 2558 นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม Peacekeeping Summit ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาเป็นเจ้าภาพ และได้ประกาศคำมั่นที่จะสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ในกรอบทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะริเริ่มความร่วมมือในด้านการฝึกอบรมนายทหารรักษาสันติภาพ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิบัติการรักษาสันติภาพของกองทัพไทย โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้แสดงความสนใจที่จะขยายความร่วมมือในลักษณะโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการอบรมเจ้าหน้าที่ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของภูมิภาค อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายของสหรัฐฯ ทำให้งบประมาณที่สหรัฐฯ เคยใช้สนับสนุนความร่วมมือนี้กับไทยผ่านโครงการ Global Peace Operations Initiative (GPOI) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้ดูแลนโยบายและกลาโหมสหรัฐฯ เป็นผู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ดี งบประมาณดังกล่าวได้ถูกระงับไปตั้งแต่พฤษภาคม 2557 แต่ปัจจุบันไทยและสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาความร่วมมือกับPeacekeeping and Stability Operations Institute (PKSOI) ที่ U.S. Army War College เมือง Carlisle มลรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลักสูตรและแลกเปลี่ยนวิทยากร ในสาขาที่ไทยให้ความสำคัญ อาทิ วาระเรื่องสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Women, Peace and Security – WPS) และเพื่อพิจารณาการแลกเปลี่ยนวิทยากรที่จะสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์สันติภาพในการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

* * * * * * * * * *
                                                                                                                   

                                                                                                           กองอเมริกาเหนือ

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

                                                                                               2 พฤษภาคม2560