ไทย - เปรู

ไทย - เปรู

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2567

| 10,173 view

ภาพรวมความสัมพันธ์

ไทยกับเปรูมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและฉันมิตรนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ (ครบรอบ ๕๙ ปี ในปี ๒๕๖๗) ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา มีเขตอาณาครอบคลุมเปรู รวมทั้งโคลอมเบีย เอกวาดอร์ โบลิเวีย และเวเนซุเอลา ส่วนเปรูเปิดสถานเอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๓๕ และสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เปรูประจำจังหวัดเชียงใหม่ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์เปรูประจำจังหวัดขอนแก่น และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เปรูประจำอำเภอหาดใหญ่

ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและหารือทวิภาคีระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ การเยือนที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การเสด็จฯ เยือนเปรูอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเปรูของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๗ เมษายน ๒๕๖๒ และนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (Dina Ercilia Boluarte Zegarra) รองประธานาธิบดีเปรูคนที่ ๑ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเปรู) เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

การเมือง

ทั้งสองฝ่ายมีกลไกหารือทวิภาคีในกรอบการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) โดยล่าสุดฝ่ายเปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ ๕ ณ กรุงลิมา เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๖ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗

เศรษฐกิจ

เมื่อปี ๒๕๖๖ เปรูเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๖ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ โดยมีมูลค่าการค้ารวม จำนวน ๔๘๖.๙๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ร้อยละ ๙.๔ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเปรู จำนวน ๒๙๐.๙๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเปรู จำนวน ๑๙๕.๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ๙๕.๐๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปเปรู ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๓) เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ (๔) ผลิตภัณฑ์ยาง และ (๕) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล  

สินค้านำเข้าของไทยจากเปรู ได้แก่ (๑) สัตว์น้ำสด แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (๒) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (๓) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ (๔) เคมีภัณฑ์ และ (๕) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ในด้านการลงทุน ปัจจุบัน บริษัท อาเฆไทย จำกัด (Aje Thai Co., Ltd.) ของเปรู ตั้งโรงงานผลิตน้ำอัดลม Big Cola ที่จังหวัดชลบุรี และบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (Mega Lifesciences Co., Ltd.) ของไทย ตั้งโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ในเปรู

ไทยกับเปรูมีความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Thailand-Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) หรือความตกลงการค้าเสรี (FTA) ลงนามเมื่อปี ๒๕๔๖ (ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ไทยลงนามกับประเทศในลาตินอเมริกา) พิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และพิธีสารเพิ่มเติม ๔ ฉบับ โดยปัจจุบัน ร้อยละ ๗๐ ของสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันภายใต้ FTA ไทย-เปรู มีอัตราภาษีที่ร้อยละ ๐ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะสานต่อการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีฉบับสมบูรณ์ ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗

ความร่วมมือทางวิชาการ

ทั้งสองฝ่ายมีกลไกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการและได้ร่วมกันจัดทำแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับเปรู ระยะ ๓ ปี (๒๕๖๔ - ๒๕๖๖) ครอบคลุมแผนงาน ๖ สาขา ได้แก่ (๑) การเกษตร (การพัฒนาพืชทางเลือก) (๒) การท่องเที่ยว (๓) สาธารณสุข (๔) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (๕) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (๖) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสีเขียว ซึ่งในชั้นนี้ ยังมีแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๖ มีชาวเปรูเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) ของกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน ๒๙ คน ในสาขาต่าง ๆ อาทิ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความร่วมมือพหุภาคี

ไทยและเปรูมีความร่วมมือที่ดีในกรอบพหุภาคี เช่น ในกรอบเอเปค เปรูมีกำหนดเป็นเจ้าภาพเอเปค ในปี ๒๕๖๗ ภายใต้หัวข้อ “Empower, Include, Grow” เพื่อผลักดัน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การค้าและการลงทุน การส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน อาเซียน เปรูเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) และเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗ อาเซียนได้ให้ความเห็นชอบต่อคำขอเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอาเซียน (Development Partner) ของเปรู และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) เปรูเป็นรัฐสมาชิกและไทยเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ของกลุ่ม