การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเปรูเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเปรูเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 924 view

      เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ประธานาธิบดีมาร์ติน บิซการ์รา นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเปรูประกอบพิธีสาบานตน โดยมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 12 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว โดยการปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลเปรูในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของชาวเปรูต่อรัฐบาลภายหลังจากที่คะแนนนิยมของฝ่ายบริหารเปรูลดลงอยู่ที่ร้อยละ 45 จากร้อยละ 68 ในเดือนเมษายน 2563 

 

43113670_303

นายมาร์ติน บิซการ์รา ประธานาธิบดีเปรูคนปัจจุบัน // ที่มาของรูป : alliance/dpa/J. Osorio

 

      ที่ผ่านมา เปรูเป็นประเทศแรก ๆ ในลาตินอเมริกาที่ประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นภาวะฉุกเฉินแห่งชาติตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยได้บังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดควบคู่ไปกับมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาดในเดือนเมษายน 2563 แต่เนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศยังขาดความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดรุนแรง อีกทั้งปัจจัยด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 340,000 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 12,500 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคฯ (รองจากบราซิล) และเป็นอันดับ 5 ของโลก

 

_113184364_peru_deaths_cases_rising_english_1_jul_640-nc-recovered-3x-nc

ปัจจุบันเปรูมีตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 340,000 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 12,500 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคฯ (รองจากบราซิล) และเป็นอันดับ 5 ของโลก // ที่มาของกราฟ :https://www.bbc.com/news/world-latin-america-53150808

 

      ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เปรูเริ่มเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนให้สาขาธุรกิจบางประเภทที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดประเทศกลับมาทำการได้ตามปกติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดง ซึ่งเปรูเป็นประเทศผู้ส่งออกทองแดงมากเป็นอันดับสองของโลก (รองจากชิลี) นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รัฐบาลเปรูมีแผนจะดำเนินการโครงการ “Arranca Peru” (Get off the Ground Peru) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยรัฐบาลจะลงทุนราว 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างงานได้ถึง 1 ล้านอัตราในภาคขนส่งสาธารณะ ก่อสร้าง และเกษตร

*******************

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ