การแข่งขันการเสริมสร้างกองเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย

การแข่งขันการเสริมสร้างกองเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,206 view

           เรือดําน้ำเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความก้าวหน้าของกองทัพเรือแต่ละประเทศ ถือว่าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในสงครามทางทะเล (Naval Warfare) และสงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare)  จึงเป็นที่นิยมของกองทัพเรือทั่วโลก ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์แข่งขันการนําเรือดำน้ำเข้าประจําการ โดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำ การพัฒนาโครงการต่อเรือดำน้ำในประเทศ การพัฒนาศักยภาพฐานทัพเรือเพื่อรองรับการจอด/ซ่อมเรือดำน้ำ การปรับปรุงและขยายกองเรือดำน้ำ และการผลิตส่งออกเรือดำน้ำ ที่มีมากขึ้น กลายเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกับการแข่งสะสมอาวุธ (Arms Race) ในรูปแบบหนึ่ง

 

กราฟแสดงจำนวนกองเรือดำน้ำของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2563 // ที่มา : H I SUTTON

 

           ประเทศมหาอำนาจทางเรือดำน้ำในภูมิภาคเอเชียประกอบไปด้วย จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมถึงปากีสถาน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่มีเรือดำน้ำที่ทันสมัย และมีศักยภาพในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเรือดำน้ำ ขณะเดียวกัน ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทย เมียนมา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เริ่มให้ความสนใจจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจําการ เห็นได้จากการที่เมียนมามีเรือดำน้ำออกประจำการลำแรกในเดือนธันวาคม 2562 และมีแผนจะซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียอีก 2 ลำ ส่วนบังคลาเทศได้จัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนไปจำนวน 2 ลำ เวียดนามกับไต้หวันมีโครงการที่จะพัฒนาเรือดำน้ำขึ้นมาเอง เพื่อทดแทนเรือดำน้ำรุ่นเก่าของตน และฟิลิปปินส์มีแผนจะสร้างเรือดำน้ำลำแรกของตน โดยอิงต้นแบบเรือดำน้ำของฝรั่งเศส

 

เรือดำน้ำรุ่น Yuan - Class ของกองทัพกองเรือปลดปล่อยประชาชนจีน ขณะออกปฏิบัติการทางทะเล //  ที่มารูป : https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1024229/navy-submits-b36bn-plan-to-buy-subs

 

           สำหรับประเทศไทย กองทัพเรือกำลังอยู่ในกระบวนการต่อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า S26T รุ่น Yuan Class จากจีน 1 ลำและมีแผนสั่งซื้อเพิ่มอีก 1 ลำ อนึ่ง ไทยเคยมีเรือดําน้ำประจําการ 4 ลำ ที่สั่งซื้อจากญี่ปุ่นเมื่อปี 2481 แต่ได้ปลดประจําการกองเรือดำน้ำดังกล่าวเมื่อปี 2494

 

********************

ที่มา : https://www.forbes.com/sites/tableauapac/2020/02/18/empowering-employees-in-asia-pacific-to-be-custodians-of-change/#3339f16514a8

 

กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

มีนาคม 2563

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ