ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันทั่วโลก

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันทั่วโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,192 view

    อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันทั่วโลกยังเผชิญกับสภาวะที่มีการผลิตน้ำมันเกินความต้องการของตลาด แม้ว่าหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในเดือนสิงหาคม 2563 ยอดการผลิตน้ำมันโดยรวมเริ่มกลับมาสูงขึ้นอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันในกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันลำดับต้น ๆ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงออสเตรเลีย ยังไม่ได้กลับมาผลิตอย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อจํากัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ และทำให้ความต้องการการใช้น้ำมันประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเพื่อทําความอบอุ่น (Heating Oil) ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ จึงเกิดสภาวะน้ำมันล้นคลังเก็บ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่โรงกลั่นน้ำมันหลายโรงทั่วโลกต้องปิดตัวลงเพื่อประหยัดต้นทุนกับค่าซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้  

 

download_1

โรงกลั่นน้ำมันของบริษัท PEMEX ในเมืองมอนเตอเรย์ ประเทศเม็กซิโก // ที่มาของรูป : REUTERS/Daniel Becerril

 

    บริษัท PetroChina บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจีนที่ใหญ่สุดในเอเชีย คาดการณ์ว่า โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทและของโรงอื่น ๆ ในจีนอาจต้องลดอัตราการผลิตลงร้อยละ 5-10 ในเดือนกันยายน เนื่องจากปริมาณน้ำมันในคลังสำรองยังสูง พร้อมกับยอดการส่งออกที่ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ ขณะประเทศอื่น ๆ ก็ต้องลดอัตราการผลิตเช่นกัน อาทิ สิงคโปร์ ซึ่งยอดการส่งออกน้ำมันกลั่นติดลบในครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายน ญี่ปุ่นลดกำลังการกลั่นน้ำมันของตนเหลือแค่ร้อยละ 65.9 และเกาหลีใต้ โดยบริษัท SK Innovation Co Ltd บริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่ของประเทศก็ลดกำลังการกลั่นน้ำมันของตนเหลืออยู่เพียงร้อย 80 ในระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม     

   

    มีกรณีบริษัทพลังงาน Viva Energy Group Ltd ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก และหากอุปสงค์ไม่เพิ่มขึ้น ทางบริษัทอาจต้องปิดโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่บริษัทบริหารในรัฐวิคตอเรีย (Geelong Refinery) ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียกําลังพิจารณาเงินสนับสนุนจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนโรงกลั่นน้ำมัน 4 โรงที่เหลืออยู่ในประเทศ 

 

Geelong-Refinery-Panoramic-Shot

โรงกลั่นน้ำมัน Geelong Refinery ของบริษัท Viva Energy Group Ltd ในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย // ที่มาของรูป : Viva Energy Australia

 

    สำหรับสหรัฐฯ หน่วย EIA (Energy Information Administration) ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยปกติในช่วงฤดูใบไม้ร่วงการบริโภคน้ำมันจะสูงขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำหรับการเดินทางลดลง ส่งผลให้คลังเก็บน้ำมันในสหรัฐฯ มีน้ำมันสะสมมากกว่า 179 ล้านบาร์เรล ซึ่งเกินความต้องการ และราคาน้ำมันที่ลดเหลืออยู่เพียงประมาณ 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (แม้ว่าสหรัฐฯ จะลดอัตราการผลิตลงร้อยละ 20 และโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ลดการผลิตเหลืออยู่ร้อยละ 76 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2551) ซึ่งนาย John Auers นักวิเคราะห์ด้านการกลั่นน้ำมันของบริษัท Turner, Mason & Company ให้ความเห็นว่า โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ หลายโรงอาจต้องปิดเพราะไม่มีเงินที่จะบำรุงดูแลโรงกลั่นได้ พร้อมไม่คุ้มต่อต้นทุนที่จะเปิดโรงกลั่นเพื่อดำเนินกิจการต่อไป

 

    สื่อออนไลน์ The Energy Watchdog คาดการณ์ว่า อัตราการบริโภคน้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงเหลวต่อวันทั่วโลกจะอยู่เพียง 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตลอดปี 2563 ลดลด 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปี 2562 (ที่มีอัตราการบริโภคอยู่ที่ 100.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งนาง Molly Morris รองประธานอาวุโสของบริษัทพลังงาน Equinor ได้ออกมากล่าวว่าความต้องการน้ำมันในตลาดโลกจะกลับมาเป็นปกติแบบก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในปี 2566

******************************

 

ที่มา : https://www.reuters.com/article/global-oil-refineries-int/oil-refiners-worldwide-struggle-with-weak-demand-inventory-glut-idUSKCN26B0W0

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ